แท่งแก้วปริซึม (Prism)

“Hard choices, easy life. Easy choices, hard life.” – Jerzy Gregorek

วันนี้ผมอยากจะเขียนถึงเรื่อง ผลประโยชน์ระยะยาว กับ ผลประโยชน์ระยะสั้น ช่วงหลังๆที่ผมได้รับเกียรติจากอาจารย์ที่มหาลัยให้บรรยายแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ผมมักจะมีสไลด์นึงประกอบเสมอ เป็นสไลด์ที่ขึ้นรูป Bill Gates และคำที่ Bill Gates เคยกล่าวเอาไว้เมื่อนานมากแล้วดังรูปที่แนบด้านล่างนี้

“ธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ธนาคารไม่ใช่” Gates พูดคำนี้ในปี 1994 ถ้านับจากวันที่เขียนบทความตอนนี้ก็ประมาณ 28 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักเทคโนโลยี blockchain, DEFI หรือการทำ decentralize finance อะไรเลย แต่ก็ต้องยอมรับอย่างนึงว่าที่ Gates พูดเมื่อนานมาแล้วนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่กำลังบูมอยู่ที่ ณ​ ปัจจุบันนี้

คำถามที่สำคัญหลังจากที่ผมได้เห็นภาพนี้ตอนแรกคือ Gates มีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลเป็นสิบๆปี แล้วคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วเราสามารถเรียนรู้อะไรจากการตัดสินใจของคนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ได้บ้าง แล้วถ้าลองค้นคว้าให้ลึกลงไปกว่านี้เราจะพบว่า คนที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนส่วนใหญ่มีความสามารถในการหา “ผลประโยชน์ระยะยาว” แบบนี้แทบทั้งสิ้นเลย ไม่ว่าจะเป็น Warren Buffett, Larry Page หรือ Jeff Bezos เหล่านี้เป็นต้น

วิสัยทัศน์เป็นตัวบ่งบอก

ถ้าเราลองย้อนไปดูคนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้จะพบว่าการตั้งเป้าหมายของแต่ละคนหรือองค์กรที่อยู่ เป็นเป้าหมายระยะยาว มีวิสัยทัศน์ชัดเจน ซึ่งก็อาจจะเหมือนกับบริษัทหรือบุคคลทั่วไปทำกัน แต่สิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ต่างไปคือการตัดสินใจ การบริหาร และการลงมือทำอย่างจริงจังต่อเนื่องเป็นเวลานานเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น แน่นอนว่าคนเหล่านี้มีช่วงเวลาที่จะได้รับผลประโยชน์ระยะสั้นเหมือนกับคนทั่วไปอื่นๆ แต่เขาเลือกที่จะอดทนเพื่อเป้าหมายที่ตั้งมั่นไว้

มันก็เหมือนกับคนเราทั่วไปที่เลือกทำอะไรต่างจากคนอื่น อาจจะมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก ช่วงเวลาที่ลังเลในเส้นทางที่เราเลือกเดิน บางครั้งเราก็ไม่มั่นใจว่ามันจะเป็นทางเลือกที่ถูกต้องหรือเหมาะสมกับเราหรือเปล่า บางครั้งคนอื่นที่มองมาก็คิดว่าเราทำไม่ได้ คิดว่าสิ่งที่เราทำมันผิดและไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง

ก็อยู่ที่ว่าเราจะหยุดอยู่แค่ระหว่างทางแล้วก็ยอมรับว่ามันเป็นเหมือนกับที่คนอื่นเขาบอกไว้ หรือจะพยายามอดทนไปถึงสุดท้ายเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นอย่างที่หวังสักวัน ถ้าเราเลือกที่จะเดินแบบหลัง เราก็ควรหยุดถามตัวเองทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจว่าสิ่งที่กำลังจะต้องเลือกเหล่านี้เป็นแค่ผลประโยชน์ชั่วคราว หรือจะทำให้คงอยู่ตลอดไป

เราคงไม่ใช่เด็กๆแล้วที่ตัดสินใจอะไรไม่คิดหน้าพะวงหลังให้ดี

เมื่อเราอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เรี่ยวแรงก็คงโรยรา ภาระก็คงเยอะขึ้น เราคงแบกความเสี่ยงได้ไม่มากเท่ากับตอนที่เราพอมีโอกาสในสมัยก่อน ครั้งนึงอาจารย์ Peter Drucker เคยเขียนเอาไว้หนังสือว่า ความเห็นของคนอื่นเหมือนกับกระจกแก้วปริซึม คือมันหักเหไปเรื่อยและมีหลายมุมมอง แต่ก็อาจไม่มีอะไรจริงและไม่มีอะไรถูก เป็นเพียงเงาสะท้อนในหลายแง่มุมเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราจะตัดสินใจทำอะไรได้เหมือนกระจกเงา

แต่ความเห็นที่หลากหลายของแก้วปริซึมก็ช่วยสะท้อนในหลายแง่มุมที่เราอาจจะคิดไม่ถึงหรือคิดไม่ถ้วนถี่ได้ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าเราจะเลือกมองหลายมุมที่สะท้อนพวกนั้นเก็บมาคิดแล้วปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นหรือเปล่า หรือก็จะอยู่กับ comfort zone ของเราเองอย่างนี้ไปเรื่อยๆ กับผลงานระยะสั้น พอถึงเวลานึงก็วิ่งกระเสือกกระสนหาอย่างอื่นมาแทนมาเติมเรื่อยๆเพื่ออุดช่องว่างบางอย่างของตัวเองต่อไป

A great man doesn’t seek to lead. He’s called to it. And he answers – DUNE

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ