พูดได้ แต่ทำไม่ได้

ถ้าอยากรู้ว่าใครคนไหนทำงานได้หรือไม่ได้ สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ง่ายที่สุดคือให้เขาทำงานชิ้นนั้นๆ – Peter Drucker

เราตั้ง KPI ให้ตัวเองยังไงบ้างครับ? คุณผู้อ่านเคยมีเป้าในการทำงานกันไหมว่าภายในอายุเท่าไหร่จะมีอะไรบ้าง หรือเป้าหมายแต่ละปีคืออะไร เราสามารถทำได้ตามที่ตั้งใจหวังไว้แล้วหรือยัง หรือมันก็เป็นเพียงแค่เป้าหมายเลื่อนลอยไปในแต่ละปี ผมนั่งอ่านบทความของฝรั่งแทบทุกเช้าบนเว็บไซต์ medium ที่เขารวมเอาบทความหลายด้านจากผู้เขียนทั่วไปหลายคน และบ่อยครั้งก็พบบทความดีๆให้ต้องบันทึกเก็บไว้

พออ่านนานวันเข้าก็เริ่มผ่านตากับวิธีการทำงานของผู้ประสบความสำเร็จหลายคน และก็เห็น pattern บางอย่างที่คนประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มีเหมือนกันคือ ความมีวินัยที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่ตัวเองตั้งเอาไว้ บางคนต้องบอกว่ามีกฏเกณฑ์การตั้งเวลาในชีวิตประจำวันที่เคร่งครัดมากๆ ไม่เหมือนกับเป้ารายปีที่คนทั่วไปเราตั้งกันเสียด้วยซ้ำ

ถ้าจะไม่ต้องกดดันตัวเองมาก ลองย้อนมาดูว่าเราเคยลองตั้งเป้าหมายระยะสั้นที่สุดกันระยะเวลาเท่าไหร่ครับ 6 เดือน, 3 เดือน หรือ 1 เดือน? เราคาดหวังว่าเราจะพยายามทำอะไรจากวันนี้ที่เรามีอยู่เพื่อให้เสร็จสิ้นหรือได้ตามที่หวังไว้แค่ไหน แล้วเราสามารถทำให้สำเร็จได้บ่อยแค่ไหน ซึ่งสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายใช้เองส่วนตัวนี่แหละ อาจจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จในอนาคตก็เป็นได้ เพราะถ้าเราเองยังละเลยกับเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ แล้วเราจะรักษาคำพูดหรือรับปากทำงานให้ใครได้ยังไง?

ความเชื่อใจคือความสม่ำเสมอเมื่อเวลาผ่านไป

ช่วงแรกเราอาจจะไม่รู้หรอกว่าใครเป็นยังไง มีวิธีการทำงานอย่างไร สามารถเชื่อใจทำงานด้วยกันได้หรือเปล่า มีแต่ต้องใช้เวลาและเฝ้าดูการกระทำไปเรื่อยๆ เหมือนกับที่อาจารย์ Drucker กล่าวไว้ สุดท้ายเราจะรู้ด้วยตัวเองว่าใครที่ดีแต่พูด ทำงานจริงใช้ไม่ได้ หรือดีแต่สัญญารับปาก เชื่อใจไม่ได้มาก พูดแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องไปคาดหวัง

ผมอาจจะมีประสบการณ์ทำงานมาไม่มาก ถ้าเทียบกับผู้ใหญ่หลายท่านที่ทำงานมาตลอดก็คงเป็นแค่เด็กเมื่อวานซืนที่มีประสบการณ์น้อย จะให้มาเขียนเล่าเรื่องการทำงานก็คงดูน่าตลก แต่ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองเลือกทำงานเพราะเกียรติ เพราะศักดิ์ศรี เพราะมันทำให้ชีวิตมีความหมาย และสิ่งที่น่าเจ็บปวดที่ต้องเจออยู่บ่อยครั้งคือต้องทำงานกับคนไม่รักษาสัญญา พูดได้คาดหวังไม่ได้

มันไม่เหมือนกับการทำงานในบริษัทที่ตัวเองไม่มีใจ แต่ทำให้เพราะความแฟร์ในค่าจ้างระหว่างผู้จ้างและผู้รับจ้าง คือถ้าเป็นในกรณีแบบนั้นก็ยังพอเข้าใจได้ ลองนึกภาพว่าเราลงขันจิตอาสาทำงานเพื่อสังคมเพราะอยากช่วย หรือทำงานให้สถาบันใดสถาบันหนึ่งเพราะมีใจรักเชิดชู มาทำงานกันด้วยใจแต่ต้องเจอกับผู้ร่วมงานที่ทำแบบขอไปที ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก ก็คงเจ็บปวดไม่น้อย

คนบางคนทำงานเพราะความหวัง มีความฝัน มีเป้าหมายใหญ่โตสวยงาม หรือต้องการพิสูจน์ตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรี ตัวอย่างก็มีมากมายทั้งนักธุรกิจ นักกีฬา นักเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งเราทุกคนก็ล้วนเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆและฝันใหญ่ๆทั้งนั้น และคนเหล่านี้ก็เลือกคนใกล้ตัวช่วยทำงานและเสริมให้ตัวเองประสบความสำเร็จแทบทั้งสิ้น

มันมีสองอย่างเกี่ยวกับความใฝ่ฝัน หนึ่งคือคุณไม่เคยมีความใฝ่ฝันแบบคนเหล่านั้น
สองคือคุณมี แต่คุณไม่ได้พยายามหรือเอาจริงเอาจังเหมือนคนเหล่านั้น

คำถามคือเราสามารถเลือกคนใกล้ตัว หรือคนที่เราจะทำงานให้เสริมเราเข้าใกล้เป้าหมายได้หรือไม่? บางครั้งการทำงานเราเปลี่ยนผู้ร่วมงานไม่ได้นั่นจริงหรือเปล่า หรือเราติดกับดักบางอย่างหรือมองไม่ไกลเกินผลประโยชน์ระยะสั้นที่ตัวเองจะได้รับอยู่ เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเรื่อง The pumpkin plan ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยการรับและเลือกลูกค้า

ในหนังสือเขียนสรุปไว้ว่า เราต้องเลือกที่จะตัดลูกค้าที่ไม่เป็นประโยชน์กับเราโดยอย่ายึดถือหรืออย่ากลัวว่าจะต้องสูญเสียหรือเสียดาย ให้ตั้งเป้าดูแลลูกค้าชั้นดีที่จะช่วยทำให้เราเข้าถึงเป้าหมายขององค์กรหรือเราเองได้ในอนาคต ไม่ต่างอะไรกับการปลูกฟักทองแล้วต้องการลูกที่ใหญ่ที่สุดดูดีที่สุด แน่นอนว่าเราจะต้องเลือกตัดลูกเล็กลูกน้อยอื่นๆ ที่คอยกัดกินเวลาในการดูแล และแย่งสารอาหารจากลูกที่มีโอกาสเติบโตได้ดีไปด้วย

ที่เขียนบทความนี้ก็อยากจะคอยย้ำเตือนตัวเองว่าให้เลือกคนรอบข้างที่เราจะทำงานด้วยให้ดีจากวันนี้ไปในอนาคต บางคนไม่ได้ซีเรียสเรื่องการทำงานและเป้าหมายส่วนตัวเหมือนกับที่เรามี และคนเหล่านั้นจะคอยกัดกินความรู้สึกหรือดึงเวลาอันมีค่าที่เราจะใช้ในเรื่องที่เราเชื่อและยึดมั่น

ก็รู้ทั้งรู้นั่นแหละครับ เพียงแต่วันนี้เรายังตัดไม่ได้ และติดอยู่กับคำว่าเสียดายหรือเกรงใจเท่านั้นเอง

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ