ความเป็นผู้นำ 4 ประการ ของอาจารย์ Drucker

Peter Drucker ปรมจารย์ด้านการบริหารเคยกล่าวถึงภาวะความเป็นผู้นำเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจในหนังสือเรื่อง The Daily Drucker หนังสือเล่มนี้เขียนได้อย่างกระชับ อ่านง่าย ให้ข้อคิดที่นำไปปฏิบัติได้ชัดเจน เป็นหนังสือที่ผมอ่านแล้วรู้สึกชอบมากกว่าหนังสือเล่มไหนๆในปีนี้

“ความเป็นผู้นำคือความรับผิดชอบ”

Drucker สังเกตุผู้นำหลายคนและสรุปได้ออกมาเป็น 4 คุณสมบัติที่เห็นได้ชัดเจน โดย 4 ข้อนั้นประกอบไปด้วย

  1. ผู้นำคือคนที่มีผู้ตาม
  2. ความนิยมชมชอบไม่ใช่ผู้นำ ผลลัพธ์ต่างหากที่ใช่
  3. ทุกคนมองเห็นผู้นำได้อย่างชัดเจน เพราะผู้นำเป็นแบบอย่าง
  4. ความเป็นผู้นำไม่เกี่ยวข้องกับยศ อภิสิทธิ์ ตำแหน่ง หรือเงินตรา แต่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบ

พออ่านถึงหน้านี้แล้วรู้สึกนึกขึ้นมาได้เรื่องนึงพอดี เดี๋ยวนี้มีบริษัทตั้งใหม่กันเยอะ หลายคนที่เริ่มเป็นผู้ประกอบการมักจะพูดว่า “หน้าที่นี้ไม่ใช่ของฉัน” หรือ “ไม่ใช่หน้าที่ ที่จะทำเรื่องนั้น” ผมฟังแล้วก็รู้สึกขื่นขมเหลือเกิน เพราะความเป็นจริงที่เจอมาทั้งหมดนี่คือต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ในเมื่อคุณเป็นผู้ประกอบการแล้ว ผมคิดว่ามันไม่มีหรอกคำว่าไม่ใช่หน้าที่ เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นก็ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบหรือรับรู้ทั้งนั้น ผู้ประกอบการที่ไม่เข้าใจธุรกิจหรือขั้นตอนการทำงานขององค์กรตัวเองอย่างแท้จริงจะให้บริการลูกค้าได้อย่างไร จะตอบคำถามเชิงลึกที่คนในอุตสาหกรรมนั้นรู้เท่านั้นได้อย่างตรงไปตรงมา และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริงหรอ

Drucker ยังกล่าวต่อไปอีกว่า จริงอยู่ที่ผู้นำที่มีประสิทธิภาพต้องรู้จักมอบหมายงานให้ผู้อื่นทำแทน แต่พวกเขาจะไม่มีวันแจกจ่ายงานที่จะเป็นตัวกำหนดมาตรฐาน พวกเขาจะทำมันด้วยตนเอง

สำหรับบริษัทตั้งใหม่ที่มีต้นทุนน้อย สิ่งที่เราทำได้คือการลงมือทำหลายสิ่งหลายอย่างด้วยตัวเองก่อน ข้อดีแน่ๆคือสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเบื้องต้นได้ และทำให้เราได้เรียนรู้บริษัทของเราอย่างแท้จริงด้วย

ส่วนตัวแล้วผมมองว่าหากเราไม่ลงมือเข้าไปคลุกคลีกับการทำงานจริงตั้งแต่วันแรก เราจะไม่ได้สิ่งที่เป็นคุณลักษณะ, DNA หรือ secret sauce ของบริษัทเราเองเลย แล้วมันจะเหนื่อยมาก เพราะเราจะไม่รู้ความต่าง ว่าสุดท้ายแล้วบริษัทของเราให้บริการต่างจากรายอื่นยังไง เราจะตอบคำถามแบบตรงไปตรงมากับลูกค้าไม่ได้ หรือบอกลูกค้าไม่ได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เราเก่ง สิ่งที่เราถนัด หรือสิ่งที่เราเป็นคืออะไร ค่านิยมขององค์กรเราเป็นแบบไหน

บริษัทตั้งใหม่ รวมถึงสตาร์ทอัพ ก็เหมือนกับการเผยแพร่ศาสนา

ลองนึกภาพคุณเป็นพนักงานขายเครื่องกรองน้ำของยี่ห้อหนึ่ง หากคุณเองยังไม่มั่นใจในตัวสินค้าว่าคุณภาพจะเทียบกับคู่แข่งได้ไหม สิ่งที่เราสื่อสารไปยังลูกค้า ท่าทีที่แสดงออกก็ดูติดขัดไม่มั่นใจ แล้วลูกค้าที่เป็นคนฟังจะมั่นใจได้ยังไง ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายนั้นเราอาจจะขายสินค้านั้นไม่ได้ด้วย

สิ่งที่เราต้องมีคือความเชื่อภายในลึกๆ ว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีน่าใช้ ให้บริการได้แตกต่างและเห็นประโยชน์ได้ชัดเจนกว่าคู่เทียบรายอื่น มันก็เหมือนกับการเผยแพร่ศาสนาในทำนองเดียวกัน คุณนับถือ A จะเข้าไปในประเทศที่นับถือ B อยู่แล้ว จะสื่อสารอย่างไร จะทำให้คนอื่นเชื่อได้ยังไงว่า A ดีกว่า B

วันแรกๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ยากเสมอ เพราะนอกจากจะถูกปฏิเสธและกีดกันจากตลาดแล้ว คุณยังต้องสู้กับอารมณ์ความรู้สึกภายในตัวเองด้วยในทุกคืนและทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา.. สิ่งที่เราทำอยู่นี่มันดีจริงหรอ มันจะไปรอดไหม มันจะเวิร์คหรือเปล่า ความรู้สึกทนทุกข์ทรมานจากความไม่แน่นอนและความไม่ลงรอยทางความคิดของเราเองนี่แหละจะเป็นตัวกัดกิน บ่อนทำลายความฝันและความหวังของเราทั้งหมด

ทำเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท

สมัยเรียนโท ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่คณะปลูกฝังและให้เรามาอย่างแท้จริงแต่ไม่ค่อยได้ยินบ่อยเท่าไหร่นักคือ การทำเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือภาพกว้างกว่านั้นคือการรักษาผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย

หากการทำเพื่อบริษัทคือหน้าที่ที่ผู้ประกอบการพึงระลึกและควรทำ บางทีหน้าที่และความรับผิดชอบก็ไม่ได้แคร์ว่าเราจะรู้สึกอย่างไร เราอาจไม่ชอบและไม่อยากทำสิ่งต่างๆเหล่านั้น แต่บางครั้งเราก็ต้องทำ และการทำถึงแม้ไม่อยากทำอาจจะเรียกได้ว่าเป็นวินัยของการเป็นผู้ประกอบการ เหมือนความฝันที่เราอาจจะมองมันในวันนี้ว่าเป็นเพียงลมๆแล้งๆ หรือเหมือนกับการเผยแพร่ศาสนาที่เลื่อนลอยทำไปก็ไม่มีคนเชื่อ

แต่นั่นก็เป็นพื้นฐานที่เราเองจะต้องพิสูจน์ไม่ใช่หรอ ไม่งั้นคนก็พูดกันเพียงแต่ลมปาก แล้วไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย ไม่รู้ว่าใครเป็นของจริง ไม่รู้ว่าใครกันที่จะเชื่อถือได้ แล้วเราจะรับปากคนอื่น หรือเชื่อคนอื่นที่รับปากว่าจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ยังไงกัน

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ