New normal หลังโควิด-19

เมื่อวิกฤตอาจทำให้เราได้มุมมองการดำเนินชีวิตแบบใหม่

โควิด-19 อาจจะเปลี่ยนหรือสร้างวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ขึ้น หรือเปลี่ยนมุมมองของใครหลายคนที่มีต่อเรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้าน, การใช้แอปเรียกแมสฯ ส่งเอกสาร ซื้อข้าวของ รวมไปถึงรักษาความสะอาด และการใช้ชีวิตประจำวันอีกหลายอย่างจนเรียกได้ว่าเป็น new normal หรือเรื่องใหม่ที่จะกลายเป็นเรื่องปกติในอนาคต

ช่วงโควิด-19 อะไรหลายอย่างก็ดูไม่ค่อยสดใส ไม่ว่าจะตลาดหุ้น ค้าขาย ธุรกิจ รวมไปถึงการใช้ชีวิตที่ยากลำบากมากขึ้น แต่ถ้ามองกลับมุมเราจะพบว่ามันทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปด้วย และอาจจะเป็นในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่น เราเห็นคนออกมาเดินในหมู่บ้าน ออกกำลังกาย เล่นกีฬาอยู่บ้านช่วงเย็นกับลูกๆ ทั้งที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นสิบปีมันอาจจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย

วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนแปลงด้วยความกลัว เริ่มให้พนักงานแยกกันทำงานที่บ้าน เปลี่ยแปลงการใช้เวลาในแต่ละวันไปจากเดิม จากที่เคยรถติดอยู่บนถนนเช้าเย็นวันละ 1-2 ชั่วโมง ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อเข้างานให้ทัน ทำให้เราเสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องที่น่าจะเอามาใช้ประโยชน์หรือพักผ่อนได้ การทำงานที่บ้าน เราอาจจะตื่นสายได้มากขึ้น ทำกับข้าวทานเองที่บ้านแล้วค่อยเข้าเวลาเริ่มทำงาน

หรือแม้แต่เรื่องความสะอาดส่วนบุคคลที่น่าจะคำนึงถึงกันได้ตั้งนานแล้ว ไอจามควรปิดปาก ไม่สบายก็ใส่แมสก์ กินอาหารที่ปรุงสุก หรือแม้แต่ล้างมือก่อนหยิบจับอะไรเพื่อสุขภาพของตัวเองและคนอื่น ไม่มีใครที่จะมีภูมิคุ้มกันดีได้เหมือนกันหมดทุกคน ถ้าเรารักษาสุขลักษณะส่วนตัวของกันและกัน การเจ็บป่วยไข้ในสังคมก็ลดลง

นอกจากนั้นเรายังเห็นการปรับตัวของธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้า เปิดร้านมาเป็นสิบปีรุ่นป๊ารุ่นม๊า จะแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้แบบไหนยังไงก็ว่ายาก “ค้าขายออนไลน์” มันจะทำได้เหรอ “สั่งข้าวออนไลน์ให้คนอื่นไปส่ง” จะเก็บตังยังไง จะโดนโกงไหม ร้านที่ไม่เคยอยู่ในระบบก็เข้ามาอยู่ในระบบ พัฒนาคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมจะผัดยังไงก็ได้ ของใช้ยังไงก็ได้มันก็แค่ข้าวปลาอาหารหนึ่งมื้อ ตอนนี้มีระบบรีวิว ส่งช้าโดนลูกค้าว่า ดาวน้อยคนไม่อยากซื้อ ตัวเลือกเยอะขึ้น ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ผู้ผลิตแข่งขันกันเพื่อให้เป็นที่ต้องการ

เรายังเห็นการปรับตัวของเจ้าของธุรกิจ ฟรีแลนซ์ และสายงานบริการอีกมากมายที่เปลี่ยนแปลงเพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤต เพราะไม่ปรับตัว รอวันให้อะไรดีขึ้นก็ปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เปลี่ยนแปลงตัวเองค่อยทำอะไรทีละเล็กละน้อยดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เกิดทุกอย่างดีขึ้น เผื่อได้อาชีพเสริมอีกทาง

สิ่งที่จะตามมาคือ หนี้ การวางแผนใช้จ่ายจะรอบคอบมากขึ้น เดิมทีคิดว่ามีปัญญาจ่ายได้ ส่งได้ทุกเดือน อาจเพราะมีหน้าที่การงานมั่นคง หรือคิดว่าหาเงินมาหมุนได้ทันผ่อนส่งได้ทุกเดือน แต่เราอาจจะคิดไม่ถึงอย่างวิกฤตหลายอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เงินที่ว่าจะได้ทุกเดือนกลับไม่เป็นอย่างที่คาด แต่หนี้ไม่ได้หายไปไหน ยังไงก็ต้องส่งทุกเดือน เกิดเดือดร้อนทุกข์ใจ ตามที่พูดกัน “ก็อย่างว่า ถ้ารู้ว่ามันจะเกิด ก็ไม่ซื้อไม่ผ่อนหรอก”

ผมเคยได้ยินเพื่อนพูดว่า เราจะเรียนรู้การบริหารความเสี่ยงไปทำไมในเมื่อทุกคนก็รู้ตัวเองอยู่แล้วเป็นพื้นฐานว่าความเสี่ยงของตัวเองมีอะไรบ้าง ความเสี่ยงที่เราควบคุมได้ก็โอเค แก้ไขปัญหากันไป ความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เกิดเป็นทอดๆ ซื้อขายไม่ได้ คนน้อยลง เศรษฐกิจแย่ ฯลฯ ถ้าวิกฤตไม่เกิดก็ไม่เคยรู้ ไม่เคยคิดบริหารความเสี่ยงอย่างจริงจังกันเสียที

ดีไม่ดี หลังจากวิกฤตโควิด-19 นี้ผ่านพ้นไป เราหลายคนอาจจะไม่ได้กลับไปใช้วิธีการดำเนินชีวิตแบบเดิมกันก็ได้ หน้ากากอนามัยอาจเป็นสิ่งพื้นฐานสำหรับการเดินทาง ไม่อยากออกไปที่คนเยอะๆ ไม่รู้ว่าจะเจออะไร ติดหวัดติดไข้ใครมาให้คนในบ้านบ้าง หรืออาจจะรับรู้ว่า พนักงานส่วนใหญ่ทำงานที่บ้านได้งานมากกว่า ประชุมทางไกลก็สะดวกดีตอนไหนก็ได้ หรือจะแค่เข้ามาออฟฟิศกัน 3 วันต่อสัปดาห์ก็น่าจะเพียงพอ

Only the paranoid survive – Andy Grove

อดีต CEO ของอินเทลเคยเขียนหนังสืออมตะเอาไว้นานมาแล้ว และก็ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง “คนขี้ระแวงเท่านั้นที่จะอยู่รอด” เตรียมตัวเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือคิดว่าวิกฤตจะอยู่กับเราอีกนานกว่าจะกลับมาเป็นปกติ เราจะค่อยๆ ปรับตัว เตรียมพร้อมรับมือ และใช้ชีวิตอยู่กับมันได้อย่างเข้าใจ

บิลเกต์ตสมัยหนุ่มๆ กับ แอนดี้ กรูฟ

เราคงไปห้ามเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้วไม่ได้ ที่ทำได้ก็คือแก้ไขปัญหาและอยู่กับมัน บางทีวิกฤตอาจจะทำให้เราเปลี่ยนมุมมองกับเรื่องบางเรื่องที่เราคิดมาเสมอว่ามันถูกต้อง กระทั่งวันนึงเราก็ได้เห็นอีกมุม แล้วอาจเปลี่ยนความคิดกับสิ่งที่ผ่านมาทั้งหมดไปเลยก็ได้

เปลี่ยนโควิดให้เป็นโอกาส

new normal อาจจะทำให้ใครหลายคนมีธุรกิจใหม่ เปลี่ยนการดำเนินชีวิตใหม่ ซึ่งอาจจะดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยวิธีที่เราไม่เคยลองหรือคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้ อาจจะเปลี่ยนวิธีดูแลสุขภาพ การดูแลตัวเอง และอาจจะได้เห็นครอบครัวกลับมาอยู่บ้านพร้อมกันทานข้าวเย็นด้วยกันบ่อยขึ้น

เดี๋ยวมันก็ผ่านไปเหมือนทุกๆเรื่องที่เข้ามา เปลี่ยนคนอื่นอาจจะเปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนตัวเองอาจจะยากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนไม่ได้

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ