ทำงานที่บ้าน? ลืม Work-life balance ไปได้เลย

ตอนเรียน ป.โท ผมเคยทำรีเสิร์จเรื่อง ทำไมการทำงานทางไกล ถึงได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า? ซึ่งเขียนถึงข้อดีของการทำงานที่บ้านหรือจะที่ไหนก็ได้ที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ และนอกจากนั้นยังมีเขียนถึงการทำงานที่บ้านอีกหลายบทความในบล็อกส่วนตัวนี่แหละ หนึ่งในนั้นคือ เรื่องที่ไม่มีใครบอก เกี่ยวกับการออกมาเป็นนายตัวเอง เพราะฉะนั้นผมจะเขียนถึงการ ทำงานที่บ้าน แบบรวบรัดสั้นๆ ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด และหลายบริษัทเริ่มให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ครับ

โดยผมจะเขียนถึง 4 หัวข้อหลักๆ คือ

  • ทำไมต้องทำงานที่บ้าน และได้ประโยชน์ยังไง
  • เรื่องที่เข้าใจผิดกับการทำงานที่บ้าน
  • ทำงานที่บ้าน แท้จริงแล้วเหมาะกับใคร
  • ทำไม Work-life balance ถึงไม่น่าได้ผล

ทำไมต้องทำงานที่บ้าน และได้ประโยชน์ยังไง

มีหลายการทดลองในลิงค์บทความที่ผมแนบไปให้ตอนต้นของบทความ บริษัทไอทีใหญ่ๆ ลองให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ (รวมถึงล่าสุดอย่าง Microsoft ประเทศญี่ปุ่นด้วยเหมือนกัน Microsoft ญี่ปุ่นทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ปรากฏว่า งานดีขึ้น 40%) แล้วก็พบว่า productivity ของพนักงานเพิ่มขึ้นกว่าเดิม, ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสำนักงานลงได้ และนอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้บริษัทเข้าถึงตลาด outsource หรือตลาดงานในประเทศต่างๆ เราอาจจะจ้างโปรแกรมเมอร์ของอินเดีย หรือคอลเซ็นเตอร์ของฟิลิปปินส์ก็ได้ ไม่ต้องลงสัญญาผูกมัดเป็นพันธะกับพนักงานประจำ

เหมือนกับปัญหาเรื่องใช้คนเยอะเกิน fixed-cost มาก จะเอาออกก็ลำบากใจ ดังที่หลายบริษัทในขณะนี้พบเจออยู่

เราเสียเวลาเรื่องที่ไม่ควรเสียเวลา

ให้ลองนึกถึงสภาพตื่น 6 โมงเช้าออกจากบ้าน 7 โมงเพื่อไปถึงที่ทำงานก่อน 9 โมงดูนะครับ ถ้าเราจะต้องใช้เวลาในการเดินทางช่วงเช้าประมาณ 1 ชั่วโมง ~ 1 ชั่วโมงครึ่งโดยประมาณ สมมติช่วงเย็นออกออฟฟิศแล้วต้องอยู่บนรถอีกพอกัน ตีไปว่าเราใช้ชีวิตบนรถ, เดินทาง 2 ชั่วโมงต่อวัน ทำแบบนี้ไป 5 วันต่อสัปดาห์ เท่ากับว่าเราใช้เวลา 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการเดินทาง

1 ปีมี 52 สัปดาห์ สมมุติเราไปทำงานจริง 45 สัปดาห์เลยอ่ะ ก็เท่ากับว่าเราใช้เวลาในการเดินทาง 450 ชั่วโมงต่อปี

ไม่ต้องคิดไกลขนาดนั้นก็ได้ ลองคิดดูว่าถ้าได้เวลาคืนมา 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เราคงวิ่งอยู่ในยิม เรียนคอร์สทำอาหารออนไลน์ เรียนภาษา เรียนดนตรี หรือทำงานอดิเรกอื่นที่อาจจะทำเงินให้เราได้อีกทางได้สบาย

อย่างฟรีแลนซ์คุณทำงานได้เพิ่มอีก 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจจะรับงานได้เพิ่ม ทำงานได้เพิ่ม ได้เงินเพิ่มต่อเดือนอีกมากพอสมควร

เรื่องที่เข้าใจผิดกับ การทำงานที่บ้าน

ตลอด 3-4 ปีที่ทำงานที่บ้านมา สิ่งที่คนอื่นเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรามากที่สุดคือ “ทำงานที่บ้านสบายเนอะ ทำตอนไหนก็ได้” และ “เอางานไปทำร้านกาแฟ น่าจะได้งานดี” ถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์อาชีพและกำลังอ่านข้อความนี้อยู่ก็คงนึกขำและบอกเลยว่ามันไม่จริง

ทำงานที่บ้าน ทำงานร้านกาแฟ ได้งานแค่ไหนกัน

ทำไมทำงานที่บ้านถึงไม่สบาย?

ถ้าคุณรับงานกับบริษัท เวลาที่คุณจะต้องพร้อมทำงานก็คือ 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็นเป็นส่วนใหญ่เหมือนกัน จริงอยู่คุณอาจจะตื่นสายได้อีกหน่อยอย่าง 7 โมงครึ่ง ทานข้าวทานกาแฟอะไรให้เรียบร้อย แล้วอยู่หน้าคอมพร้อมที่จะเริ่มงาน รับโทรศัพท์ หรือตอบลูกค้าอะไรก็ว่าไป

มันไม่สบายเพราะสิ่งรบกวนเยอะ และคุณต้องบังคับตัวเองให้ได้ รักษาวินัยให้ดีในการโฟกัสเกี่ยวกับงานที่มีอยู่ตรงหน้า ที่เป็นแบบนี้เพราะเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สบายเป็นธรรมชาติกับตัวเองมากกว่าอยู่ออฟฟิศ ไม่มีใครมาคอยจ้องดูว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เผลอๆ คุณอาจจะเปิดโซเชียล เปิดวิทยุฟังเพลง หรือเปิดทีวีทิ้งไว้แค่ให้มันมีเสียง จนสุดท้ายลืมตัว ได้งานไม่สมเหตุสมผลในแต่ละวัน

ถึงบังคับตัวเองได้ แล้วบังคับสิ่งเร้าภายนอกได้ไหมก็ต้องดูด้วย ใครที่อยู่บ้านกับคนอื่น พ่อแม่พี่น้อง เขาเห็นเราอยู่บ้านบ่อยครั้งก็มักจะนึกว่าชวนกันออกไปไหนก็ได้ จะไหว้วานให้ไปทำอะไรก็ได้ การปฏิเสธแล้วรักษาเวลาของเราเองจึงเป็นสิ่งที่ต้องฝึก บางทีทำงานที่บ้านนี่พะวงมากกว่าไปทำงานที่ออฟฟิศด้วยซ้ำ

และทำไมถึงใช่ว่าจะทำตอนไหนก็ได้?

ถ้าเป็นงานที่ต้องประสานงานกับลูกค้า แล้วลูกค้าทำงานเลิก 5 โมงเย็น บางงานอาจทำต่อไม่ได้ ต้องรอพรุ่งนี้ให้ฝั่งลูกค้าพร้อมด้วย อีกอย่างคือเมื่อคุณคิดว่าทำตอนไหนก็ได้ อยากจะทำตอนมีอารมณ์ ช่วงดึกๆสัก 3 ทุ่ม พอติดไปเรื่อยๆ มันจะเป็นเรื่องง่ายมากที่ทำให้คุณแยกเวลาส่วนตัวกับเวลางานไม่ออก ยิ่งอยู่บ้านด้วยแล้ว บางคนลืมสิ่งรอบข้างไปสนิทไม่รู้ว่าเวลาไหนควรทำงาน เวลาไหนควรให้ครอบครัว

เรื่องนี้อาจจะกระทบกับคนรอบข้างของเราได้ และจะเป็นบ่อเกิดของปัญหาว่าทำไม work-life balance มันถึงไม่เวิร์ค

ทำงานที่บ้านเหมาะกับใคร

แน่นอนว่ามันไม่ได้เป็นวิธีที่เหมาะกับทุกคน ในมุมของเจ้าของกิจการ เราจะรู้ได้ไงว่าการอนุญาติให้คนทำงานที่บ้าน ด้วยเหตุผลว่ากลัวป่วยเอาเชื้อมาติดกันที่ออฟฟิศ แต่จริงๆไม่ได้อยู่บ้านทำงาน กลับไปนั่นไปนี่ คนจ่ายเงินก็อยากให้คนทำงาน เรื่องมันตรงไปตรงมามากๆ

ถ้าพนักงาน 2 คน A กับ B ได้รับมอบหมายงานเหมือนกัน อยู่ฝ่ายเดียวกันตำแหน่งเดียวกัน ทำงานที่ออฟฟิศ A ใช้ Excel ทำงานเสร็จภายในเวลา 8 ชั่วโมง ส่วน B ใช้ Excel และเทคนิคอื่นที่เรียนรู้เองทำงานเสร็จภายใน 5 ชั่วโมง คำถามคือเราควรให้คนไหนทำงานที่บ้าน?

ส่วนตัวผมมองว่าการทำงานที่บ้านเหมาะกับคนที่นำผลลัพธ์ปลายทางมาให้ได้เร็วที่สุด โดยไม่แคร์ว่าจะเป็นวิธีไหน(results-based) ดังเช่น B อาจจะเป็นคนหัวสมัยใหม่ หาอ่านเทคนิคใช้สูตร Excel มาปรับใช้กับงานที่มีอยู่ทำให้งานเสร็จไวกว่าเดิม ผมว่า B น่าจะเหมาะกับการทำงานที่บ้านมากกว่า เพราะโดยพื้นฐาน คนที่อยากพักก็อยากทำงานเสร็จไว เขาจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน หาเครื่องมือ เทคนิค เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ตัวเองได้มากขึ้น

แต่หัวหน้าก็ไม่รู้ไงว่าทำงานจริงหรือเปล่า?

บอกตรงๆ ถ้าไม่เชื่อใจก็ใช้เครื่องมือครับ แต่ควรระวัง เพราะถ้าพนักงานรู้สึกว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ผมเคยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเรื่อง แรงจูงใจของโบนัส ซึ่งเกี่ยวกับการทำงานและผลตอบแทนที่จะได้รับ ถ้าใช้ผิดวิธีจะเกิดผลเสียต่อความรู้สึกของพนักงาน ถ้าใช้ถูกวิธีจะได้แรงเสริมในสิ่งที่เราต้องการกลับมา

แต่ถ้าไม่แคร์ ผมแนะนำให้ใช้เทคโนโลยีช่วยครับ มีตั้งแต่โปรแกรมเปิดเว็บแคมของคอมที่พนักงานใช้ แล้วนั่งดูเลยว่าอยู่หน้าคอมทำงานหรือเปล่า(ส่วนตัวคิดว่าอันนี้รุกล้ำความเป็นส่วนตัวไปหน่อย) ลองใช้โปรแกรมจับสถิติการใช้งานเครื่องคอมน่าจะตอบโจทย์กว่า

โปรแกรมตรวจจับสถิติการทำงาน Wakatime

ผมเองก็ใช้โปรแกรมพวกนี้กับตัวเอง track ว่าวันนึงทำงานไปกี่ชั่วโมง ใช้โปรแกรมไหนเยอะ เข้าเว็บไซต์ไหนเยอะ คลิกเมาส์ไปกี่ครั้ง พิมพ์ไปกี่ตัวอักษร คลิกตรงไหน คำสั่งไหนใช้บ่อย มันเหมือนเก็บสถิติเก็บไว้ตรวจสอบ productivity ของตัวเอง ให้มีกำลังใจ ปรับปรุงแก้ไขพัฒนาขึ้นในวันต่อๆไป

รายชื่อโปรแกรมเก็บสถิติที่แนะนำ เสริม productivity ดูได้ที่บทความ ว่ากันเรื่องของ Productivity ครับ

ทำไม Work-life balance ถึงไม่น่าได้ผล

พอทำงานที่บ้านไปสักพัก คุณจะแยกไม่ออกระหว่างเวลาไหนเป็นเวลาที่ต้องทำงาน เวลาไหนเป็นเวลาที่ต้องใช้ชีวิตปกติพักผ่อนอย่างคนทั่วไปเขาทำกัน สมมติว่าคุณเป็นคนที่ enjoy กับงานที่ทำมากๆ ชอบความท้าทายอยากแก้ปัญหา คุณก็จะอยากทำงานทุกครั้งเวลาว่าง ไปไหนมาไหนก็จะเอาคอมไปด้วยตลอด จะไปนั่งร้านกาแฟยามบ่าย ไปต่างจังหวัด หรือเสาร์อาทิตย์ไม่รู้จะทำอะไรดี ก็เปิดคอมเช็คเมลดูงานไปพลางๆ

มีหลายคนและหนังสือหลายเล่ม(รวมทั้งเล่มที่เคยเขียนถึงอย่าง หนังสือสำหรับคนสร้างธุรกิจ – The hard thing about hard things) กล่าวว่าที่มันไม่ได้ผลเพราะเราผสมปนเประหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวไปเรียบร้อยจนแยกไม่ออกแล้ว

ถ้าคุณกังวลและต้องการให้เวลากับคนรอบข้าง คุณก็อาจจะโฟกัสที่งานน้อยไป แต่ถ้าคุณให้ความสำคัญกับงาน รักและสนุกในการทำงานมาก คุณก็อาจจะละเลยครอบครัวหรือคุณที่อยู่ข้างคุณได้เหมือนกัน เคยมีหลายคนแนะนำแยกห้องทำงาน กับห้องนอนห้องนั่งเล่นให้เป็นสัดส่วน หรืออย่าเอางานกลับไปทำที่บ้าน เพราะมันอาจจะทำให้ชีวิตเรากับคนรอบข้างยุ่งยาก และบริหารจัดเวลาได้ยากนั่นเองครับ

ผมจำไม่ได้ว่าอ่านมาจากหนังสือเล่มไหน แต่ผู้เขียนในเล่มนั้นเขียนประมาณว่า “ผมไม่เข้าใจพวกผู้ก่อตั้งบริษัทรุ่นใหม่เลย เอาแต่บอกว่าชีวิตต้องมี work-life balance หรือ work hard play hard ทั้งที่โลกแห่งความเป็นจริงพวกนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าสร้างธุรกิจมันไม่มีแล้ว คิดเผื่อเวลาสำหรับนั่นเวลาสำหรับนี่ ทุกเวลามันต้องพร้อมทำงาน” จำได้เลยว่าอ่านแล้วมีไฟมาก

สำหรับบริษัทที่กำลังจะให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือใครจะเริ่มทำงานที่บ้านก็ลองดูก่อนก็ได้ครับ บางคนอาจจะมีเทคนิคของตัวเอง อาจจะรู้ตัวเอง คุมตัวเองได้ว่าแบบไหนที่ได้งาน ที่ไหนที่ทำให้เรามีสมาธิ สามารถผลิตงานออกมาได้เยอะที่สุด

สำหรับผม ตอนแรกคิดว่าทำที่ร้านกาแฟได้งานมากกว่าที่บ้าน เพราะเป็นสถานที่กึ่งบังคับให้ต้องทำงาน ไม่ต้องพะวงเรื่องอะไรหรือทนสิ่งเร้าที่บ้าน แต่ไปๆมาๆ สถิติที่ใช้บอกทำที่บ้านได้งานมากกว่า และเป็นช่วงหลังดื่มกาแฟเช้า-เย็นด้วย

มันไม่สำคัญหรอกว่าทำงานที่ไหน มันสำคัญที่ว่าเรารู้หรือเปล่าว่าช่วงไหนที่เป็นช่วง productivity peak ของเราเอง และเราใช้มันให้เป็นประโยชน์สูงสุดในช่วงนั้น บางคนอาจจะเป็นช่วง 6 โมงเช้า บางคนอาจจะเป็นช่วง 4 ทุ่ม มันไม่สำคัญหรอก มันสำคัญตรงที่ว่าคุณใช้ช่วงเวลานั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้มากน้อยแค่ไหนต่างหาก

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ