มันมี 2 ปัจจัยที่เราใช้ตัดสินคนอื่น

คิดว่าเราตัดสินคนอื่นที่เพิ่งเจอกันไม่นาน หรือเพิ่งเจอกันครั้งแรกอย่างไรครับ? ดูการกระทำภายนอก การแต่งตัว การแสดงออก หรือลักษณะบุคคลิกหน้าตา แล้วคิดไปว่าคนๆนั้นน่าจะเป็นแบบนี้ โดยอิงจากประเภทของคนที่เราเคยเจอมาในอดีต

ฟังดูแล้วแบบนี้เหมือนกับ Machine learning เลยใช่ไหม คอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูลและคาดการณ์อนาคตว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็ได้มาจากข้อมูลในอดีต หรือจากข้อมูลที่เราได้ป้อนเข้าไป

แล้วถ้าเป็นแบบนั้น หากเราป้อนข้อมูลในด้านลบอย่างเดียว หรือมากกว่า 90% ของข้อมูลทั้งหมด การคาดการณ์ในอนาคตก็มีแนวโน้มจะเกิดเรื่องไม่ดีมากกว่าเรื่องดีล่ะสิ ลองแทนถึงเรื่องการเงิน การเมือง และเศรษฐกิจดูก็ได้ครับ หากซอฟแวร์การประมวลผลเพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ในช่วงตลาดหุ้นขาลง มีข่าวมากมายในด้านลบเกี่ยวกับเรื่องการเงิน ผลการคาดการณ์อนาคตช่วงแรกของตัวซอฟแวร์เองก็ย่อมออกมาเป็นเชิงลบด้วยเช่นกัน

จนเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ มีข่าวดีบ้างร้ายบ้างปะปนกันไป ซอฟแวร์จึงได้เรียนรู้ คาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำและเที่ยงตรงมากขึ้นกว่าที่จะให้ผลลัพธ์เชิงลบอย่างเดียว

เหมือนกับการตัดสินของคนนั่นแหละครับ

don’t judge a book by its cover

หากเราเพิ่งเจอลูกค้าใหม่ครั้งแรก แล้วเห็นว่าท่าทางฉุนเฉียวหงุดหงิด พูดจาไม่สุภาพ เราอาจจะตีความไปก่อนเลยว่าคนนั้นน่าจะเป็นคนไม่น่าคบ ทำงานด้วยยาก หรือไม่อยากจะคบค้าสมาคมกันต่อไป

มนุษย์เราชอบตัดสิน และมักจะตัดสินทุกอย่างตั้งแต่แรก ไม่ใช่แค่กับคนอื่นเท่านั้น เรายังตัดสินอะไรหลายอย่างจากสิ่งที่เราคิดว่ารู้มาในอดีตอยู่เสมอ เช่นเพิ่งเคยไปห้างสรรพสินค้าที่ใหม่ เห็นรถเยอะ วนหาที่จอดอยู่ครึ่งชั่วโมงก็ยังไม่ได้ เราก็อาจจะตีความไปเลยว่าห้างนั้นคนเยอะ ที่จอดรถน้อย แล้วก็ไม่อยากจะไปอีก

ทั้งๆ ที่วันนั้นอาจจะเป็นวันเดียวของเดือนที่จัดงานกิจกรรม นอกนั้นก็ปกติมีที่จอดว่างเยอะแยะ คนก็ไม่พลุกพล่านเท่าห้างอื่น การตัดสินคนอื่นก็เช่นเดียวกัน ถ้าลูกค้าที่เราเพิ่งเจอครั้งแรกนั้นเจอเรื่องที่แย่มาอย่าง คนที่บ้านป่วยเข้าโรงพยาบาล รถโดนชนแล้วหนี หรือเพิ่งผิดหวังจากเรื่องอื่นมา

แต่เราก็ตัดสินเขาไปแล้วเพียงจากข้อมูลที่เราคิดว่ารู้ หรือคิดว่าน่าจะเป็นจากสิ่งที่เรามีในอดีต แบบนี้ก็ดูไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่ใช่ไหม เหมือนกับที่เราโดนคนอื่นตัดสินด่วนสรุปจากมุมมองเพียงด้านเดียวยังไงยังงั้น

2 ปัจจัยที่ใช้ตัดสิน

มุมของจิตวิทยาเราเรียกการกระทำแบบนี้ว่า Fundamental Attribution Error หรือการตัดสินอะไรสักอย่าง โดยเราคาดว่าสิ่งนั้นน่าจะเป็นแบบที่เราคิดเอาไว้หรือเคยได้พบเจอมา ซึ่งเรามักจะตัดสินจาก สิ่งที่บุคคลผู้นั้นกระทำ มากกว่า ปัจจัยสภาพแวดล้อม

  • วันนี้นัดเจอลูกค้า แต่ลูกค้ามาสาย แสดงว่าลูกค้าน่าจะเป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ เก็บเงินน่าจะได้ช้า หรือน่าจะทำงานด้วยยาก แบบนี้เรากำลังตัดสินจากการกระทำของคนอื่นโดยที่ยังไม่พิจารณาปัจจัยภายนอก
  • วันนี้นัดเจอลูกค้า แต่ลูกค้ามาสาย ข้างนอกฝนตกหนัก ที่ทำงานลูกค้าอยู่ไกลจากสถานที่นัดเจอ หรือสถานที่นัดเจอเป็นสถานที่ที่รถติดมาก นี่คือการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการกระทำของตัวบุคคล

ถ้ามีข้อมูลไม่พอ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใครน่าจะแฟร์กว่าไหม ถ้าครั้งที่สองที่สาม เจอลูกค้าทำแบบเดิมซ้ำๆ ก็ค่อยย้ำให้มั่นใจในการตัดสินใจมากขึ้น จะได้เตรียมตัวรับมือถูก ไม่ใช่ทำทุกอย่างเพื่อต่อต้าน.. จากการตัดสินใจเพียงได้เจอแค่ครั้งแรกครั้งเดียว

เปลี่ยนการตัดสินเป็นตั้งข้อสงสัย จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงคนนั้นหรือสิ่งนั้นได้มากขึ้น และท้ายที่สุดแล้ว ความสม่ำเสมอนั่นเองจะเป็นคำตอบ ช่วยย้ำให้เรารู้ว่า เราควรตัดสินคนนั้น หรือสิ่งนั้นอย่างไร

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ