ถลำ

ผมเคยอ่านหนังสือเล่มนึงเขียนเกี่ยวกับเรื่องการตัดสินใจเอาไว้ค่อนข้างน่าสนใจ เขาบอกว่าอะไรก็ตามที่เราตัดสินใจไปแล้ว และผลลัพธ์ออกมามันพลาด หรือมันไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ หรือเอาง่ายๆ การตัดสินใจนั้นมัน failed เราจะยอมรับค่อนข้างยากว่ามัน failed และเราจะพยายามลงทุนลงแรงหรือใส่ทรัพยากรกับการตัดสินใจที่เกิดขึ้นนั้นไปแล้วมากขึ้นๆ เผื่อที่ว่ามันอาจจะกลับมาดีขึ้นในภายหลัง และช่วยสรุปทำให้การตัดสินใจของเราเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง หรือ success

กลายเป็นว่าเรา bias กับการตัดสินใจนั้นไปโดยปริยาย ซึ่งบางทีเราเองก็รู้ตัวด้วย แต่ยอมรับหรือถอนตัวลำบาก กรณีนี้มันจะคล้ายกับการออกแบบเกมที่มีระบบการสุ่ม เช่นเมื่อสุ่มหนึ่งครั้ง เราจะมีโอกาส 5% ในการได้ของที่ดี, 25% ในการได้ของระดับปานกลาง และ 70% สำหรับได้ของที่แย่ แต่การสุ่มจะสะสมโอกาสไปเรื่อยๆ ยิ่งสุ่มมาก โอกาสการได้ของดีก็จะมีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสุ่มไปครบ 10 ครั้ง แต่ยังไม่เคยได้ของดี(ที่มีโอกาสออก 5%) ระบบจะเพิ่ม % การสุ่มได้รับของดีให้มากขึ้น (เช่นจาก 5% เป็น 15% อะไรทำนองนี้)

ยิ่งเราโตขึ้น ego มากขึ้น ความรู้มากขึ้น เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะค้นคว้าหาข้อมูล หรือเตรียมตัวที่จะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างรอบคอบขึ้น แต่มันก็ทำให้เราติดกับดักกับการถลำลึกลงไปมากขึ้นเช่นเดียวกันหากเราห้ามพฤติกรรมตัวเองไม่ได้ เช่นคิดมาระยะนึงและตัดสินใจแล้วจะว่าจะสุ่มแค่ 30 ครั้งเท่านั้น คิดว่าโอกาสออกได้ของดีน่าจะสัก 1-3 ชิ้น แต่ถ้าไม่ได้เลย โอกาสที่เราจะหยุดการสุ่มต่อเพื่อให้เจอของดีสักหนึ่งชิ้นก็เป็นไปได้ยากมาก เหมือนกับคนเล่นพนันไปสักพัก เสียเงินไปพอสมควร แล้วคิดว่าเล่นอีกสักหน่อยก็มีโอกาสได้ทุนคืน

ยิ่งการตัดสินใจของเราไปข้องเกี่ยวหรือแชร์ผลลัพธ์กับคนอื่น การยอมรับว่าเราถลำหรือมี bias ต่อการตัดสินใจนั้นก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ในหนังสือเปรียบเทียบผู้จัดการทีมฟุตบอล ที่เลือกซื้อตัวนักเตะค่าตัวแพง ดูลาดเลาแล้วเหมาะสม คิดว่าไปได้ดีแน่กับแผนการทำทีมของตัวเอง แต่พอใช้งานไปสักพักกลับไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง แทนที่จะหยุดแล้วพิจารณาส่งนักเตะที่ผลงานดีในสนามซ้อมลงตามเหตุและผล แต่ผู้จัดการทีมกลับเลือกส่งนักเตะที่ซื้อมาใหม่คนนั้นลงอยู่เรื่อยๆ เพราะคิดว่าวันใดวันนึงผลงานจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน

จะเห็นว่าการตัดสินใจที่ไม่ได้มองผลลัพธ์หรือยอมรับด้วยเหตุและผลอย่างตรงไปตรงมาอาจทำให้เราเสียประโยชน์ หรือโดนใช้ประโยชน์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ซึ่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม หรือผู้ให้บริการเกมต่างๆ ก็เป็นหนึ่งในการใช้ประโยชน์จาก bias ของผู้ใช้งานตรงนี้

เราอาจถลำกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ก็ได้ เพียงเราแค่ยังไม่รู้ตัว
หรือก็รู้ตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ถอนตัวยาก

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ