ปีใหม่ไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นคนใหม่

ถ้ายังทำอะไรแบบเดิม

ปีก่อนหน้านี้ ผมเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง Fresh Start Effect ว่าด้วยทำไมคนเราชอบตั้งเป้าหมายใหม่พอขึ้นรอบปีใหม่แบบนี้เป็นประจำทุกปี แน่นอนว่าในชีวิตจริง เราเห็นคนที่ทำแบบนี้กันเยอะ แต่จุดประสงค์ของการเขียนถึงเรื่อง Fresh Start Effect ไม่ได้เกี่ยวกับทำไมและเพราะอะไร ที่เขียนนั้นเป็นเพราะการกระทำของคนเรานั้นเป็นไปตามที่เราพูดหรือตั้งเป้าหมายไว้ต่างหากหรือเปล่ามากกว่า

ความสม่ำเสมอทำให้เกิดความไว้ใจ

ถ้านาย ก. เป็นตำรวจ ไม่ว่าเจอใครทำเรื่องผิดกฏหมายจะผู้น้อยผู้ใหญ่ นาย ก. ก็ดำเนินการไปตามกฏเกณฑ์อย่างถูกต้องสม่ำเสมอ สมมติผมโดนกลั่นแกล้งโดยผู้มีอิทธิพล แล้ว นาย ก. เป็นเจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่อง ผมก็ค่อนข้างสบายใจได้ว่า นาย ก. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางไม่เข้าข้างผู้มีอิทธิพล

สิ่งที่ทำให้คนอื่นไว้ใจคือ ความเชื่อใจ และความเชื่อใจก็เกิดจากการกระทำที่สม่ำเสมอ พูดอะไรก็เป็นอย่างนั้น บอกอะไรก็รับผิดชอบ ความเชื่อใจจึงเกิดขึ้นเองโดยผู้อื่น ไม่ใช่สิ่งที่เราเที่ยวปาวประกาศว่าให้คนอื่นเชื่อ

เรามีสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจทำอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่ตามมาด้วยคือความรับผิดชอบในการตัดสินใจนั้นๆ เราตัดสินใจได้ดีพอหรือเปล่า เราตัดสินใจโดยใช้เหตุและผลจริงแท้แค่ไหน เราคิดถึงผลที่จะตามมาและผู้อื่นที่อาจจะตกระกำลำบากจากการตัดสินใจนั้นด้วยแล้วใช่ไหม เราตัดสินใจโดยปราศจากความเอนเอียง หรือสิ่งที่อาจทำให้เราได้ประโยชน์มากกว่าความถูกต้องในเวลานั้นหรือไม่

แน่นอนทุกคนล้วนต้องอยู่กับการตัดสินใจของตนเองนั่นเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราตัดสินใจแล้วคนอื่นพลอยมาได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของเรา (แล้วไม่รับผิดชอบให้คนเหล่านั้นด้วย) อันนี้ก็คงต้องมานั่งคิดแล้วว่าเราเป็นคนแบบไหน

2022 by jirayu limjinda

2021 ปีที่ยากลำบากอีกปีหนึ่ง

ผมมานั่งย้อนดูบทความเก่าๆที่ตัวเองเขียนช่วงต้นปีในแต่ละปี ก็เห็นว่าทุกปีแทบจะเป็นปีที่ยากหมดเลย เราไม่เคยชอบปีไหนเป็นพิเศษ แล้วก็ไม่เคยจำเรื่องที่แย่ที่สุดในปีไหนได้เลยด้วยเหมือนกัน จริงๆมันก็อาจเป็นเรื่องดีที่เราจำเรื่องแย่ๆในแต่ละปีไม่ได้ เพราะมันทำให้เรารู้ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องที่แย่ในช่วงเวลานึงก็เป็นเหมือนแค่เรื่องแย่ๆอื่นๆที่เคยผ่านเข้ามา ซึ่งเราก็แค่อดทนพยายามกัดฟันผ่านมันไปให้ได้

แล้วสิ่งแย่ๆพวกนั้นจะสอนบทเรียนให้เราอาจไม่พลาด อาจไม่ผิด และอาจไม่หลงอีกในอนาคต ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมเราถึงมีเพื่อนน้อยลง หรือมีกลุ่มคนที่ไปไหนมาไหนกันเหลือไม่กี่คน เพราะคนอื่นที่ไม่เคยเจอเรื่องพวกนั้นเขาไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจว่าเราเจออะไร เรารู้สึกยังไง เล่าไปก็เหมือนสื่อสารกันกลับมาคนละอย่าง เรารู้เลยว่าเขาไม่พร้อมที่จะฟังเรื่องนี้ เขาไม่เข้าใจปัญหาคาราคาซังที่เคยเกิดขึ้น เขาไม่ได้รู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก และแทนที่ว่าการพูดจะทำให้เราดีขึ้น

เปล่าเลย. มันอาจทำให้เราแย่ลงด้วยซ้ำ เพราะเหมือนเรารู้สึกโดดเดี่ยวทั้งที่มีคนอยู่รอบๆ รู้สึกว่าคุยกับหมากับแมวบางทีก็ยังสบายใจมากกว่า หรืออีกวิธีที่ทำจนชินแล้วก็คงเก็บเอาไว้แล้วทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตลอดช่วงวัยรุ่นที่ผ่านมามักมีคนพูดว่า อย่าเก็บไว้ มีอะไรก็พูดออกมาบ้างจะได้สบายใจ ก็ไม่เลย ไม่คิดว่าวิธีแบบนั้นมันจะเหมาะสมกับคนทุกคน มันเป็นเพียงแค่วิธีที่คนส่วนใหญ่รวมถึงคนที่เอ่ยใช้เพื่อรักษาปัญหาของตัวเองแล้วมันได้ผล แต่ประเด็นคือเรื่องแบบนั้นมันอาจไม่ได้ผลกับกลุ่มคนบางกลุ่มอื่นๆ แล้วทำไมถึงต้องใช้วิธีแบบนั้นกับคนทุกคน

ที่จะพูดถึงคือ เรารู้หรือเปล่าว่าตัวเองมีวิธีแก้ไขเรื่องพวกนั้นยังไง เรารู้หรือเปล่าว่าเราทำอะไรถึงสบายใจ มันควรเป็นแบบนั้นมากกว่า บางคนมีวิธีในการแก้ไขปัญหาของตัวเองแตกต่างกันไป บ้างอาจอยากอยู่กับคนเยอะๆจะได้ไม่เหงาไม่ต้องปล่อยใจให้คิด บ้างอาจหลบไปอยู่เงียบๆฟังเพลงอ่านหนังสือคนเดียว การรู้ตัวเองต่างหากน่าจะเป็นคำตอบ

บางเรื่องเรารู้อยู่แก่ใจ รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาจากสิ่งที่เราทำ จากที่เราตัดสินใจ แต่เราก็ยังทำแบบนั้นหรือตัดสินใจแบบนั้น ไม่ใช่ว่าเราไม่แคร์ไม่ได้คิดอะไรให้รอบคอบ แต่เราคิดถี่ถ้วนแล้วว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำและอาจถูกต้องด้วยในช่วงเวลาหนึ่ง และเราคิดว่ารับผลกระทบที่จะตามมาได้ ถึงแม้มันจะเป็น worst case แล้วด้วยก็ตาม

Nothing is good until it is finished – Genghis Khan

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ