ครั้งหนึ่งเคยได้รับทุนจาก TEDFund

ทำไมผู้ก่อตั้งบริษัทตั้งใหม่(Startup) ส่วนใหญ่ถึงมีเป้าหมายว่าอยากจะเป็น unicorn ตัวแรกของประเทศ ซึ่งความฝันของเราเองไม่เคยเป็นแบบนั้นเลย ความฝันของเราคือเราอยากเป็นแพลตฟอร์มที่คนรักที่จะใช้มากที่สุดมากกว่า

ผมจำได้ว่าตัวเองเคยพูดขึ้นมาใน meeting นึง ซึ่งตอนนั้นผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนก็กำลังคุยกันเกี่ยวกับบริษัทตั้งใหม่(หรือ startup) ว่าส่วนใหญ่มักจะพูดเสมอตอนเริ่มต้นธุรกิจว่าอยากจะทำเงินได้เยอะๆ อยากจะเป็น unicorn ตัวแรกของประเทศ คือผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเมื่อมีคนพูดคำนี้ขึ้นมา และผมยังรู้สึกว่ามันเป็นความฝันของคนอื่น ซึ่งเราก็ฟังและรับรู้ เหมือนกับเราเองที่มีความฝันเหมือนกัน

แต่แค่บางครั้งก็สงสัยว่าทำไมความฝันของเรามันดูไม่เหมือนกับคนอื่น ทำไมเราไม่เคยคิดถึงเรื่องการทำเงินได้เยอะๆจากการประกอบธุรกิจ แต่กลับเป็นอยากจะทำแล้วให้คนใช้ อยากให้คนรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีประโยชน์ อยากมี moment ของการเป็นนักประดิษฐ์ แค่สร้างสิ่งที่ตัวเองรักที่ได้ทำ แล้วคนอื่นก็รักที่ได้ใช้

แน่นอนว่ามันอาจฟังดูไม่ลื่นหูสำหรับนักลงทุนเท่าไหร่ และตัวเองที่เรียนจบด้านบริหารมาก็เข้าใจเรื่องพวกนี้ดี

ในเมื่อสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ เราไม่ได้ตั้งใจจะเน้นเรื่องการสร้างรายได้ หรือการทำกำไร แต่ธุรกิจก็มีเรื่องที่ต้องจ่าย สิ่งที่พอทำได้ให้เราสามารถดำเนินธุรกิจไปได้นานขึ้นอีกวิธีนึงก็คงเป็นการลดค่าใช้จ่ายต่อเดือนให้ต่ำเข้าไว้ และอีกวิธีนึงคือลองออกไปหาคนสนับสนุน แต่ก็คงเป็นการสนับสนุนที่เราเองก็ต้องรับได้ด้วยเช่นกัน

เงื่อนไขของเราไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก เรายังเชื่อว่าสิ่งที่เราทำอาจจะโตขึ้นและพอล่อเลี้ยงธุรกิจได้ในอนาคต เราไม่ได้อยากเสนอหุ้นเพื่อแลกกับเงินทุนมากขนาดนั้น เลยคิดว่าการเสนอโครงการกับกองทุนต่างๆของทางภาครัฐน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมก่อนในตอนนี้ และเงินทุนที่เราคิดว่าเหมาะสมกับความต้องการนั้นก็คือเงินทุนแบบให้เปล่า

กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TEDFund เป็นหนึ่งในกองทุนที่ Tripniceday เพิ่งผ่านการอนุมัติและเราก็เดินทางไปลงนามกันเมื่อปลายเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ในบทความนี้ผมเลยอยากจะเขียนบันทึกไว้เผื่อวันข้างหน้าเราเดินทางไปอยู่จุดใดจุดหนึ่งแล้วอาจมีโอกาสได้ย้อนกลับมาอ่าน ซึ่งอาจจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากการตัดสินใจครั้งนี้ก็ได้

ช่วงกลางปี 2563 เป็นช่วงที่โควิดรอบแรกเริ่มทุเลา ตอนนั้นเริ่มมีงานประกวด กองทุนเริ่มเปิด และพวก incubator ก็เริ่มประกาศรับสมัคร ซึ่งผมเองก็ส่งไปทุกงาน เรียกได้ว่าถ้าเจอโพสต์ไหนของอะไรบน Facebook แล้วมีเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว งานนั้น Tripniceday ส่งชื่อเข้าด้วยแน่นอน

ผ่านไปประมาณ 1 เดือนนิดๆผลก็เริ่มประกาศ ปรากฏว่าเราก็ติดเข้ารอบหลายที่ ช่วงเดือนสองเดือนนั้นจำได้ดีเลยว่าต้องเข้าอบรม หรือเข้ากิจกรรม 3 งาน งานนึงเป็นงานประกวดของ TAT Startup ซึ่งก็ใช้เวลา 2 อาทิตย์วันธรรมดา อีก 2 เป็น incubator ซึ่งออนไลน์ผ่าน Zoom อันนึง และอีกอันนึงไปเข้าร่วมที่สถานที่จริง

ทุกงานที่ส่งไปแน่นอนว่าจะต้องมีการเขียนข้อมูลส่งผ่านการกลั่นกรองต่างๆ ต้อง pitch เพื่อเข้าไปทีละรอบบ้าง หรือทำกิจกรรมมาร่วมคลาสเก็บเวลาให้มีส่วนร่วมบ้าง ตอนนั้นทำทั้งเอกสาร เดินทางไปอบรมทั้งวันธรรมดาสองวันและเสาร์อาทิตย์ แล้วก็ทำงานของบริษัทซอฟต์แวร์ตัวเองไปด้วย เป็น 2-3 เดือนที่เหนื่อยมากๆ รู้สึกว่าไม่มีเวลาส่วนตัวได้ทำอะไรของตัวเอง หลงๆลืมๆ ไม่มีสมาธิในการทำงานเลย

ผลลัพธ์ที่สวยงามอาจจะเกิดจาก routine ที่น่าเบื่อ

เริ่มรู้สึกว่าการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองเป็นเรื่องน่าเบื่อ เราเริ่มมี routine แบบเดิมซ้ำๆเช้ากลางวันเย็น รู้สึกว่าเป็นชีวิตที่ไม่มีอะไรเลย เป็นเส้นตรงและรู้สึกว่าตัวเองเริ่มไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ เริ่มรู้สึกว่าทำไมตัวเองต้องมาทำอะไรที่มันยุ่งยากทั้งๆที่ก็ต้องมีอะไรที่ต้องทำมากมายรออยู่แล้ว

แต่อึกมุมนึงก็กลับมานั่งคิดว่า ถ้าวันนั้นเลือกที่จะไม่ทำ เราก็อาจจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยก็ได้ เราอาจจะไม่เคยได้สัมผัสประสบการณ์พวกนี้ หรือไม่มีภูมิคุ้มกันต่อความลำบากอะไรเลยก็ได้

incubator ที่ผมเข้าชื่อ TECHBITE ซึ่งจัดโดยสำนัก KX ครับ หลังจากเข้าอบรม ไปประมาณ 2 เดือนก็เริ่มทำเล่ม proposal เพื่อส่งให้คณะกรรมการพิจารณา โดยขั้นตอนด้านเอกสารนี้ก็ใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน โดยเขาจะมีเป็น template แบ่งหัวข้อเอาไว้ว่าในเอกสาร proposal ที่ต้องนำเสนอเนี่ยต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง หลักๆแล้วจะเป็นเรื่อง บริษัท ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ โมเดลธุรกิจ แผนการดำเนินงาน และอาจจะมีเรื่องคาดการณ์ด้านการเงินบ้างนิดหน่อย

สำหรับคนที่จบด้านบริหารมาอาจจะพอไปได้ค่อนข้างเร็ว ถ้าเคยทำ feasibility ของโครงการมาบ้างก็อาจจะเอาค่าที่เคยทำมากรอกในหมวดนั้นได้เลย สำหรับผมแล้วในเอกสารไม่ใช่เรื่องที่ยากเท่าไหร่ พอตอนก่อนจบโททำส่วนต่างๆพวกนี้ไว้หมดแล้ว เลยเอาเนื้อหามาเรียบเรียงให้เหมาะสมกับหัวข้อ จัดคำจัดหน้าใหม่เกือบๆอาทิตย์ก็เรียบร้อย

ข้อดีของการเข้าผ่าน incubator นี้คือทางทีมงานของ TECHBITE ให้ความช่วยเหลือด้านการประสานงานกับกองทุนทั้งเรื่องของเอกสาร การนัดหมายและเตรียมความพร้อมค่อนข้างดีมาก รู้สึกได้เลยว่าถ้ายื่นหากองทุนโดยตรงเองน่าจะเหนื่อยกว่านี้มาก และอาจจะถูกตัดสิทธิ์เพราะความไม่พร้อมได้เลย

หลังจากจบเรื่องทำเอกสารแล้ว ก็จะเป็นการนำเสนอผ่าน Zoom กับอนุกรรมการ ก็เหมือนการ pitching ทั่วไป โดยรอบของผมต้องนำเสนอกับกรรมการกว่า 10 คน โดยมีเวลาประมาณ 15 นาทีรวมถาม-ตอบ ซึ่งผลก็จะรู้ภายในอาทิตย์หรือสองอาทิตย์โดยประมาณ

เกณฑ์การให้คะแนนก็จะแบ่งออกเป็น 5 หมวดโดยคณะกรรมการเป็นผู้ให้ โดยเมื่อรวมคะแนนออกมาแล้วจะต้องเกินกว่า 72 คะแนน(ถ้าจำไม่ผิด หรือบวกลบไม่เกิน 3 คะแนนอะไรประมาณนี้)

ซึ่งช่วงเวลาที่รอผลนั้นก็ไม่ได้ลุ้นหรือโฟกัสไปกับการรออะไรมาก เพราะช่วงนั้นต้องไปออกบูธกันต่อ 3 วัน ออกบูธมาก็เหนื่อย ต้องแก้ไขเตรียมตัวไปวันถัดไป รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก ไม่ได้อะไรกังวลอะไรเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง

เงินให้เปล่า ต้องทำผลงานแลก

กองทุนประกาศผลทางอีเมล์พร้อมกับทีมอื่นๆที่ส่งข้อเสนอเข้าไปในรอบนั้น กองทุนของ TEDFund เป็นแบบเงินให้เปล่าก็จริง แต่ก็ต้องมีผลงานเสนอเข้ามาเพื่อแลกเอาเงินออกไป เช่นในรอบนึง ทีมสามารถขอเงินได้สูงสุดถึง 1.5 ล้านบาท ก็ต้องมาแจกแจงเขียนไปว่าเราจะเอาเงินที่ขอนี้ไปทำอะไรบ้าง แล้วผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้เงินลงไปจะเกิดผลอย่างไรกลับมา ถ้าพูดกันตามตรงแล้วก็ถือว่าแฟร์

เงินที่ได้ เป็นเงินแบบต้องจ่ายออกไปก่อนแล้วต้องมาเบิก การเบิกจะแบ่งออกเป็นงวดๆ เราก็ต้องเสนอไปว่าทีมจะทำอะไรในงวดแรก แล้วจะได้ผลลัพธ์อะไร ถ้าผ่านแล้วเราก็เริ่มดำเนินการไปก่อนเลย ใช้เงินไปก่อน เก็บเอกสารใบเสร็จให้ครบเพื่อที่จะได้เอามาเบิกคืนจากกองทุนได้

กองทุนจะมีกฏระเบียบเรื่องการเบิกค่อนข้างเคร่งครัด แต่ถ้าใครที่ประกอบกิจการมาบ้าง แล้วก็มีพื้นฐานการดำเนินธุรกิจมาเองก็อาจจะไม่รู้สึกแปลกหรือต่างอะไรมากนัก ก็แค่ทำให้มันเป็นขั้นตอน ใบแจ้งหนี้ใบวางบิล ใบเสร็จรับเงินอะไรก็เก็บมาให้ครบ ที่ต้องคำนึงจริงๆก็คือหมวดค่าใช้จ่ายมากกว่า

เพราะมีค่าใช้จ่ายบางกลุ่มที่ไม่สามารถเบิกกับกองทุนได้ เช่นค่าแรงตัวเอง ค่าซื้อของเข้าธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งพวกนี้กองทุนจะมีหนังสือคู่มือการเบิกให้ สามารถเอาไปอ่านทำความเข้าใจได้ด้วยตัวเองได้ไม่ยาก สรุปง่ายๆ คือถ้าเป็นผู้ประกอบการอยู่แล้ว และเคยผ่านขั้นตอนพื้นฐานด้านบัญชีหรือทำอะไรต่างๆเองระดับหนึ่งก็อาจจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติ แค่มีบางหมวดค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถขอเบิกได้ประมาณนั้น

โดยรวม ผมใช้เวลาส่งข้อมูลเข้า incubator, อบรมทำเอกสารอยู่ที่ประมาณ 2 เดือน รอพิจารณากลั่นกรองอีกประมาณ 2 เดือน พอผ่านการอนุมัติก็จะได้ลงนามทั้งหมดน่าจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน

ซึ่งอันที่จริง Tripniceday เราไม่ได้ขอเต็มจำนวนที่กองทุนให้เบิกได้ครับ เราก็ขอตามจริงที่เราคิดว่าจะใช้ บางคนอาจจะบอกว่าทำไมไม่ขอมาก่อน เงินก็เป็นเงินให้เปล่า เราก็จะเริ่มคิดว่าเราอาจจะทำอะไรเกินตัวเกินไป อาจจะใช้เงินบางอย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบหาสิ่งอื่นทดแทนเหมือนที่เราเคยทำกันมา

จริงๆเมื่อก่อนก็ไม่เคยรู้เหมือนกันว่าจะมีกองทุนให้เปล่าของรัฐที่สามารถเปิดให้ยื่นโครงการมาขอได้ คือโครงการที่ยื่นอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็น startup ก็ได้ หรือไม่จำเป็นต้องทำเกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ได้ บางโครงการอาจจะผลิตขนมเพื่อสุขภาพแบบใหม่และดูเป็นนวัตกรรม หรือสร้างวัสดุทดแทนมานานในห้องแล็ปและกำลังหาข้อมูลหาเงินทุนเพื่อออกสู่ตลาดก็เป็นได้เหมือนกัน

ภาพประกอบจาก เอกสารการเขียนข้อเสนอโครงการ YSF

การขอทุนนั้นก็จะแบ่งออกเป็น stage เช่นแบบ Ideation แค่มีไอเดียอยากจะขอทุนไปทดสอบตลาด หาความเป็นไปได้ ก็สามารถขอได้สูงสุด 1 แสนบาทใน stage นี้ แต่ส่วนของ Tripniceday นั้นขอแบบ Proof of Concept ไป ซึ่งสามารถขอได้สูงสุด 1.5 ล้านบาท เพื่อเอาไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือทำ market research ต่อยอดในอนาคต เป็นขั้นๆแบบนี้ขึ้นไป

เริ่มแล้วก็เจ็บแน่ๆ

เพราะยังไงก็เจ็บอยู่ดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมคิดว่าการที่เราทนเจ็บไปก่อน เพื่อให้ได้รู้ได้ประสบการณ์ช่วงหนึ่งของชีวิตก็น่าจะเป็นอะไรที่คุ้มค่า บางคนอาจจะล้มนิดหน่อยแล้วพอละ ไม่อยากเจ็บตัว หรือคิดว่าทำไมจะต้องมาลำบาก มาเหน็ดเหนื่อย ทำไปก็ไม่รู้ว่าจะได้อะไรก็อาจจะไม่เคยได้เรียนรู้อะไรพวกนี้เลย

สมัยทำเป็นโปรเจคจบ ก็ทำทุกอย่างอย่างที่เคยทำมาตลอด

ตอนที่ผมไปพูดให้นักศึกษาที่สถาบันฟังเกี่ยวกับการเริ่มต้นโครงการนี่ผมเอารูปที่ตัวเองเก็บไว้และจำได้ดีไปด้วย รูปนั้นมันเป็นเมล์ที่ตอบกลับมาจากหน่วยงานหนึ่งซึ่งนั่นเป็นงานที่เราออกไป pitch กันงานแรก

ได้ 59 คะแนนจาก 100 คะแนนเต็ม

ถามว่าตอนนั้นอ่านแล้วรู้สึกแย่ไหม ก็แน่นอน

ออกมานำเสนอโครงการให้ข้างนอกฟังครั้งแรกก็ได้รับการตอบรับแบบให้ยุติโครงการแบบนี้ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เป็นคนรั้น ไม่ยอม อยากพิสูจน์ก็เลยทำมาเรื่อยๆ พัฒนามันไปเรื่อยๆ ส่งทุกงาน หาโอกาสทุกอย่างมาจนวันนี้ จริงๆก็ต้องขอบคุณอีเมล์นั้นที่ช่วยทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอด

เราจำได้ทุกอย่างเกี่ยวกับทุกคนที่เคยพูดกับเรา และเราเองก็จำได้ทุกความรู้สึกของตัวเองที่ผ่านมากับผลิตภัณฑ์นี้ เราบอกกับตัวเองเสมอว่ามันอาจจะเป็นบริษัท startup สุดท้ายแล้วที่เราจะสามารถทำได้ เพราะเราเองก็อายุมากขึ้น ภาระก็มีมากขึ้น จะต้องมาทำตัวเองให้เสี่ยงให้มีความไม่แน่นอนแบบนี้ไปเรื่อยๆมันก็คงไม่เหมาะ

แล้วถ้ามันเป็นโอกาสสุดท้าย ทำไมเราไม่ลองทำทุกอย่างที่เราพอจะทำได้ไปให้สุดทางก่อน อย่างน้อยถ้าไม่ได้อะไรเลย เรายังได้เรียนรู้ ได้กลับมาอยู่กับตัวเองและนึกถึงวันเก่าๆว่าเราเคยเจออะไร เคยมีความรู้สึกอย่างไร มันไม่เคยเสียดายหรอก ถึงแม้ว่าระหว่างทางที่ทำมามันจะทำให้เรารู้สึกยังไงก็ตาม

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ