ทำไมเราถึงดูเป็นคนดีเสมอ เมื่อพูดถึงคนอื่น

การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่ผู้คนทำ ส่วนกระแสนิยมคือสิ่งที่คนพูดถึง การพูดแค่ลมปากเป็นแค่กระแสนิยม ทว่าหากสิ่งนั้นคือการเปลี่ยนแปลงจริงๆ คุณต้องถามตัวเองด้วยว่ามันเป็นโอกาสหรืออุปสรรค

ข้อความข้างต้นมาจากหนังสือของ Peter F. Drucker ที่ผมชื่นชอบครับ มีหน้านึงที่ผมอ่านแล้วนึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่ผู้คนชอบทำกันและแชร์ลงโซเชียล หนึ่งในนั้นคือการแชร์รูปบางอย่างเพื่อต้องการสื่อข้อความไปให้คนที่เป็นเพื่อนกันรับรู้ และหวังว่าเขาจะคิดเองได้ โดยที่ตัวเองก็ไม่อยากจะพูดมันออกไปตรงๆ

กลุ่มเพื่อนใน Facebook ของผมเป็นกลุ่มเพื่อนที่ค่อนข้างโตแล้ว เพื่อนส่วนใหญ่กว่า 40% เป็นรุ่นพี่ อาจารย์ และผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า (โดยส่วนใหญ่ผมจะเด็กสุดเกือบทุกโต๊ะอาหาร เวลาต้องนัดคุยงานหรือทานข้าวเย็นกัน) และเพื่อนในเครือข่ายทั้งหมดกว่า 600 คน ส่วนใหญ่กว่า 70% ทำงานประจำ ..และอย่างที่เรารู้กันดี เรื่องที่ต้องเก็บมาคิดให้ปวดหัวส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องคนมากกว่าเรื่องงาน

สักประมาณต้นปีมีหนังสือเล่มนึงวางจำหน่ายชื่อ ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย ผมเองยังไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้เลยยังบอกไม่ได้ว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบ แต่สิ่งที่แปลกและเห็นได้ชัดเลยคือ เพื่อนใน Facebook ที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอ่านหนังสือเล่นยามว่าง หรืออ่านบ้างแต่ก็ไม่ได้ถ่ายแชร์ลงอย่างเป็นเรื่องทั่วไป กลับถ่ายรูปปกหนังสือเล่มนี้แล้วโพสต์ขึ้นบัญชีของตัวเองกันหลายต่อหลายคนมาก

ประหนึ่งเหมือนจะบอกเป็นนัยว่าจริงๆแล้วที่ถ่ายปกหนังสือลงเนี่ย ต้องการสื่อสารให้บางคนที่เป็นเพื่อนกันรับรู้นะว่าบางคนนี่ไม่ไหวจริงๆ โดยไม่ได้สนใจแก่นแท้ของเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเหมือนคนอ่านหนังสือจริงจังทั่วไปเขาทำกัน

และช่วงกลางปีที่ผ่านมาก็มีคนแชร์โพสต์เกี่ยวกับการที่ว่าด้วย “เพื่อนบางคนเป็น Toxic อ่อนๆ” ก็เช่นเดียวกันกับกรณีของหนังสือ คนแชร์กันเยอะและก็พยายามเหมือนต้องการให้เพื่อนที่อยู่บนโซเชียลเห็นแล้วรู้สึกเอง โดยที่คนแชร์ก็ไม่อยากจะพูดบอกไปตรงๆ

ก็เลยมาคิดว่า ถ้าทุกคนคิดเหมือนกันว่าต่างฝ่ายต่างไม่ดี แล้วความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบข้างหรือเพื่อนที่เจอกันอยู่บ่อยๆนี่มันเป็นความสัมพันธ์ประเภทไหนกัน หรือความจริงแล้ว ในความคิดของเรานั้นเราเข้าข้างตัวเองจนคนอื่นไม่มีอะไรดีเลย ที่นี่ปัญหามันอยู่ที่เราเองที่อยู่ไม่ถูกที่ถูกเวลา หรือปัญหาที่คนอื่นทำตัวแบบนั้นจริงๆ (แน่ล่ะ เรามักจะเลือกข้อหลังเพราะเราอยู่ใกล้กับตัวเองและไม่มีเสียงคนอื่นพูดแทนอีกฝ่ายนี่)

ท่าน้ำปากเกร็ด

ความไม่จริงใจ

เคยได้ยินไหมครับว่าจุดเริ่มต้นของการโกหกเรื่องใหญ่ๆ หรือการหลอกลวงใหญ่โตมักจะเกิดขึ้นจากการโกหกเรื่องเล็กๆ เราเริ่มต้นโกหกเรื่องเล็กๆน้อยๆเพียงเพราะเห็นว่ามันก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร พอนานเข้าจนชิน เราก็เริ่มติดโกหกมากขึ้นเรื่อยๆ และการโกหกก็เริ่มกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น จนท้ายที่สุดคือกลับตัวไม่ได้ ต้องโกหกต่อไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็เหนื่อยแต่ก็เผยความจริงไม่ได้

ท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะพบว่าเราอาจจะไม่เชื่อใจใครต่อใครอีกเลย เพราะเกรงว่าคนรอบข้างจะทำแบบนั้นเหมือนที่เราทำกับคนอื่น ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่นจึงเป็นความสัมพันธ์แบบรักษามารยาท ไม่ได้สนิทชิดเชื้อจริงใจอย่างที่เราแสดงออกไปจริงๆ

น่าแปลกไหมครับ

ผมว่ามันน่าแปลกที่ต้องเจอคนแบบนี้และก็น่าสนใจด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะทุกครั้งที่ผมพยายามถามว่าถ้าเจอคนแบบตัวอย่างนี้จะรู้สึกยังไง ถ้ามีคนมาทำแบบนี้ใส่จะเป็นรู้สึกอย่างไร ส่วนใหญ่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือก็เหมือนกับคนทั่วไป คือคงไม่ชอบ แล้วก็รู้สึกได้ถึงความไม่จริงใจที่ใครคนนั้นมอบกลับมาให้

แต่ทำไม.. ถ้าเราเกลียดสิ่งไหน ทำไมเราถึงยังทำสิ่งนั้นกับคนอื่น

แล้วเราจะไปต่างอะไรกับคนที่เราไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย แล้วเราจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับคนรอบข้างได้ยังไงถ้าทุกวันนี้สังคมที่เราอยู่มีแต่คนจ้องจะหาผลประโยชน์จากคนอื่น ใส่ร้ายคนอื่น หรือคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น และที่น่าตลกคือ

เรากำลังอยู่ในโลกที่ใครต่อใครต่างบอกว่าเราต้องทำอะไร หรือต้องเป็นอะไร ซึ่งใครต่อใครที่ว่านั้น ไม่ได้อยู่ในจุดที่เราเป็น หรือประสบจริงๆ

ดังที่ Drucker เคยกล่าวไว้เมื่อนานมาแล้วว่าการพูดแค่ลมปากอาจจะเป็นแค่กระแสนิยม ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงใดๆ แล้วทุกวันนี้เราเชื่ออะไร? เชื่อนักโฆษณา นักพูด หรือโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายแหล่ มากกว่านักปฏิบัติที่ขยันขันแข็งต้องการจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น

หรือว่าจริงๆ เราก็ไม่ได้ต่างจากคนพวกนั้นที่เรากำลังอ้างอิงถึงเลยแม้แต่น้อย

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ