เราไปวัดกันทำไมนะ?

ขณะที่นั่งทานข้าวคุยงานกับพี่ๆรุ่นราวคราวน้า เราก็คุยกันไปเรื่อยเปื่อยเกี่ยวกับเรื่องขอบเขตของโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วก็คุยเรื่องสัพเพเหระต่างๆนาๆ ที่เราพบเจอกันตอนทำงาน พี่ท่านนึงก็เอ่ยขึ้นมาว่า “เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าวัดเท่าไหร่” ก็เลยนึกอะไรบางอย่างได้อยากจะเก็บมาเขียน และตามสไตล์ที่ตัวเองเป็นคนชอบตั้งคำถามเพื่อย้อนถามถึงอะไรหลายๆเรื่องกับตัวเอง ถ้าสมมติว่ามีคนบอกว่าเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าวัด เราน่าจะต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปอีกหน่อยว่า แล้วเราเข้าวัดกันทำไมล่ะ?

ผมไม่รู้คำว่า “เด็กสมัยนี้” นั้นหมายถึงเด็กช่วงอายุประมาณไหน และนั่นเป็นไปได้ไหมที่จะหมายถึงเราเองที่เป็นคนอายุน้อยกว่าในสถานการณ์นั้นด้วยหรือเปล่า โดยส่วนตัวถ้าถามว่าผมเข้าวัดบ่อยไหม ตอนที่ขึ้นไปเที่ยวเมื่อช่วงปลายเดือนมกรา 63 ผมขับรถเที่ยวเอง 3 วัน 3 จังหวัด ไปวัดทั้งหมด 12 ที่ แล้วส่วนใหญ่ที่เที่ยวใกล้ๆ หรือในกรุงเทพ ส่วนใหญ่ก็จะมีวัดทุกทริป เลยคิดว่าตัวเองน่าจะเป็นคนนึงที่ไปวัดบ่อยมาก ผมกล้าบอกว่าตัวเองไปวัดบ่อยกว่าค่าเฉลี่ยของคนอายุรุ่นๆ เดียวกันละกัน

พระสยามเทวาธิราช
พระพุทธชินราช

แล้วผมไปวัดทำไมล่ะ?

ผมว่าถ้าพูดเรื่องวัด หรือพยายามตั้งคำถาม ก็อาจจะมีบางคนมาบอกว่า “เห้ย คุณมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อของคนได้ยังไง ถ้าไม่เชื่อก็อย่ามาทำให้ศาสนาหม่นหมอง” แต่ถ้าสมมติว่าเราคุยกันด้วยหลักของเหตุและผลเหมือนคนในครอบครัวคุยกันโดยไม่มีอารมณ์อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมว่าส่วนใหญ่ก็จะตอบคำถามนี้ประมาณว่า อยากไปเห็น อยากไปทำบุญ อยากไปไหว้พระ ไปแล้วสบายใจ อะไรทำนองนี้กันใช่ไหมครับ

สมัยผมบวชอยู่วัดป่าที่เชียงราย พระอาจารย์ท่านว่า คนจะหันหน้าเข้าวัดอีกอย่างก็ตอนทุกข์นั่นแหละ ถ้าไม่มีปัญหาก็ไม่ค่อยเข้าวัดกันหรอก

ผมเลยสรุปมาได้ว่าหลักๆ แล้วคนส่วนใหญ่ไปวัดกันด้วย 2 เหตุผลคือ

  • ไปเพราะอยากสบายใจ ทำบุญขอพร ขอความเป็นสิริมงคล
  • ไปเพราะมีเรื่องทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

สมัยมัธยมผมเรียนโรงเรียนที่เป็นคริสต์ มีซิสเตอร์เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ก็ได้ความรู้หลักคำสอนของศาสนาคริสต์มาด้วยเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งศาสนาคริสต์ก็สอนให้คนเป็นคนดีเช่นเดียวกับศาสนาพุทธ และยังเป็นที่พึ่งไว้ยึดเหนี่ยวเวลาอ่อนล้าหรือมีทุกข์เช่นเดียวกัน

หรือช่วงที่มีข่าวเกี่ยวกับวัดธรรมกาย ผมก็ติดตามข่าวสารหาข้อมูลให้ครบทุกด้านทั้งเสียงคนต่อต้านและเสียงคนที่เป็นลูกศิษย์ ก็พบว่าจริงๆ แล้ววัดธรรมกายก็สอนให้คนเป็นคนดีทำดีเหมือนกันไม่มีผิดเพี้ยนกับวัดอื่น คือศาสนา และตัวแทนศาสนาไม่ว่าจะเป็นวัด พระ รูปปั้น พระพุทธรูปก็ล้วนมีคำสอนให้เราปฏิบัติดีกับทั้งตัวเองและผู้อื่น ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ดีน่าเคารพเลื่อมใสแทบทั้งหมด

หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร
หลวงพ่อทองคำ
พระเจ้าทันใจ
พระอจนะ วัดศรีชุม

ไม่ว่าจะเป็นวัดบ้าน วัดป่า วัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว วัดที่มีเกจิดัง หรือวัดที่มีประวัติเกี่ยวกับวัตถุมงคลก็ล้วนแล้วแต่อยากให้คนใกล้ชิดกับศาสนาและหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ผมว่าไม่เกี่ยวหรอกว่าใครจะมาบอกว่า “เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าวัด” และหมายถึงว่าเด็กคนนั้นจะเป็นคนไม่ดี หรืออาจจะไม่ใช่คนดี คนดีนั้นดีที่ใจ ดีที่ความคิด และดีที่การปฏิบัติตัว ไม่ใช่การประเมินว่าเข้าวัดหรือไม่เข้าวัด

หลายคนที่เป็นเพื่อนในโลกโซเชียลมักจะถามผมว่า ชอบไปวัดหรอ ไปเที่ยวทริปไหนจังหวัดไหนก็เห็นแวะวัดบ่อยจังเลย

เปล่า ผมไม่ได้ชอบทำบุญอะไรขนาดนั้น ผมชอบสถานที่ที่เงียบสงบ ได้อยู่กับตัวเอง รู้สึกเย็นใจเวลาได้เข้าไปนั่งในโบสถ์ ชอบสังเกตุเวลาคนมาไหว้พระ ชอบที่ทุกคนที่มาปฏิบัติตัวเรียบร้อยเคารพสถานที่ ชอบเวลาได้อ่านประวัติศาสตร์ หาข้อมูล ชอบพระท่านหลายๆรูปที่ปฏิบัติตัวเป็นเยี่ยงอย่างน่าเคารพนับถือไม่ยึดติดรูปรสกลิ่นเสียง ชอบเวลาได้เล่าให้ใครต่อใครฟัง และชวนเขามาเที่ยววัดเพราะมีอะไรน่าสนใจแบบที่เขาไม่รู้มาก่อนโดยใช้มุมมองการเล่าแบบเฉพาะของเรา เห็นไหมครับ เหตุผลการไปวัดของใครต่อใครก็อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้

ถึงอายุยังไม่เยอะ แต่ชอบเที่ยววัด ก็ไม่เห็นแปลกเลย และวันนี้เป็นวันพระใหญ่ (มาฆบูชา) ขอแนบรูปภาพจบบทความด้วยพระคติธรรมของสมเด็จพระสังฆราชครับ

คติธรรมของสมเด็จพระสังฆราช

“ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย”

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ