เราเรียนรู้อะไรจาก Elon Musk

ผมทำทุกอย่างที่ผมพูดว่าจะทำ – Elon Musk

ชายผู้มีความกระตือรือร้นและเป็นเศรษฐีผู้มั่งคั่ง นอกจากนั้นยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากในอุตสาหรกรรมเทคโนโลยี ปัจจุบันเป็นผู้บริหารบริษัทขนส่งอวกาศเชิงพานิชย์อย่าง Space X และบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่อย่าง Tesla นอกจากนั้นยังมีโครงการน่าตื่นตาตื่นใจมากมายอย่าง Hyperloop ที่จะเปลี่ยนการเดินทางระหว่างเมืองให้รวดเร็วขึ้กว่าก่อนมาก และอีกสารพัดโครงการที่ฟังดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็เป็นไปแล้วเกือบทั้งหมด

เราได้เรียนรู้อะไรจากชายที่ชื่อว่า Elon Musk (อีลอน มัสก์) บ้าง แล้วเราสามารถขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ หรือฝันใหญ่ฝันไกลสร้างสิ่งต่างๆ ได้สักครึ่งของชายคนนี้ไหม หนังสือเล่มที่ชื่อว่า Elon Musk: Tesla, SpaceX, and the Quest for a Fantastic Future น่าจะเผยข้อมูลหลายเรื่องที่เราไม่ค่อยได้รู้มาก่อน และก็มีอีกหลายมุมให้อ่านเพื่อเรียนรู้การตัดสินใจทำธุรกิจ และสิ่งที่ใหญ่กว่าธุรกิจ ซึ่งก็คือความฝันของอีลอน มัสก์

เริ่มจากความฝัน

มัสก์ฝันว่าอยากจะไปตั้งอณานิคมบนดาวอังคาร เพื่อดำรงอยู่ไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ผมเชื่อว่าตอนเด็กๆ ใครหลายคนก็ฝันอยากจะออกไปอวกาศ เป็นนักบินอวกาศ หรือไปท่องเที่ยวดาวดวงอื่นกันใช่ไหมครับ แต่ส่วนใหญ่แล้วฝันมันก็มักจะเป็นแค่ฝัน เราไม่ได้ต่อยอดมันอย่างจริงจัง ถึงแม้มันจะฝังเป็นส่วนลึกของเรามานานไม่เคยหายไปก็ตาม

ภาพจรวด Falcon Heavy ของบริษัท Space X
ภาพจรวด Falcon Heavy ของบริษัท Space X

อีลอน มัสก์ก็ฝันเหมือนกับเรานี่แหละครับ แต่ต่างตรงที่ว่าเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เข้าใกล้ความฝัน ถึงแม้ Space X จะไม่ใช่บริษัทแรกที่มัสก์ก่อตั้งขึ้น (เรื่องราวของบริษัทแรกๆ ที่มัสก์ตั้งขึ้น แล้วก็โดนยึดอำนาจก็อ่านสนุก แล้วก็สอนอะไรเราหลายอย่างเหมือนกันเกี่ยวกับการตัดสินใจทำธุรกิจ แต่อยากให้ไปอ่านในหนังสือเองจะสนุกกว่า) และมัสก์เองก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องของอวกาศ จรวด หรือการเดินทางไปในอวกาศเลย

แต่ชายคนนี้ก็เก็บสะสมความรู้มาเรื่อยทั้งจากคนรอบกายที่จ้างเข้ามา หรือหาอ่านทำความเข้าใจจากหนังสือ จนทำให้มัสก์เป็นเจ้าของบริษัทที่แทบจะรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับจรวด

ตั้งเป้าหมาย

อีลอน มักส์มักจะเป็นคนที่ชอบตั้งเป้าหมายและบอกสื่อถึงสิ่งที่กำลังจะทำอยู่ บางครั้งสิ่งเหล่านั้นฟังดูเหมือนเป็นไปได้ยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ เช่นการลดราคาต้นทุนการผลิตจรวดที่แพงแสนแพงให้ลงมาเหลือไม่กี่ % ของราคาเก่า ตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วนที่สวยงาม สมรรถนะดี สามารถชาร์ตไฟได้ฟรีตามสถานีต่างๆ ที่ Tesla เป็นผู้สร้างได้ฟรี

หลายครั้งที่สื่อ และคนทั่วไปมักจะเล่นงานบอกว่าเป็นความฝันลมๆแล้งๆ คอยดูถูกเหน็บแนมเหมือนผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นของเด็กเล่น และหลายคนก็บอกว่าไม่มีทางเป็นไปได้ แต่มัสก์เหมือนกับสตีฟ จ็อบส์ที่คิดอะไรใหญ่โตเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเห็น และพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในอนาคตอันใกล้

เรากลัวที่จะตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก เพราะกลัวว่าจะไม่มีวันสามารถทำสำเร็จได้ หรือกลัวความล้มเหลวที่จะตามมา กลัวว่าจะเสียหน้าไม่ได้รับการยอมรับ หรือกลัวที่จะเริ่มอะไรใหม่ที่เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับโลกปัจจุบันกันแน่ แล้วการที่มนุษย์มาถึงจุดนี้ได้ในปัจจุบันไม่ใช่การมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่หรอกหรือ สิ่งที่ทำให้เราเป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการได้มาถึงจุดนี้ หรือการพัฒนาอย่างไม่หยุดหย่อนนั้นไม่ได้มาจากเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่หรอกหรือ

ฟาราเดย์, พี่น้องตระกูลไรท์, สตีฟ จ็อบส์ และอีลอน มัสก์ น่าจะแตกต่างจากคนทั่วไปคือ กล้าที่จะฝันใหญ่ กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ ไม่กลัวความล้มเหลว คนเหล่านี้น่าจะมี DNA ของผู้ประกอบการอยู่เต็มเปี่ยม

หาความรู้ ความสามารถเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ถ้ามีฝัน มีวิสัยทัศน์ แต่ไม่มีความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายได้ ทุกอย่างที่หวังไว้ก็ไม่น่าจะเกิด อีลอน มัสก์ในสมัยเด็กมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ก็เป็นเด็กใฝ่รู้ ชอบอ่านหนังสือ และคิดทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของฟิสิกส์

ในหนังสือเล่มนี้มีหลายตอนที่เขียนว่า มักส์มักจะไปถามซักกับเหล่าวิศวกรทั้งที่ Tesla และ Space X เพื่อเก็บความรู้จากคนเหล่านั้น จริงอยู่ที่มัสก์มักจะเป็นผู้นำที่ไม่น่าคบ(เหมือนกับ สตีฟ จ็อบส์) ในสายตาของพนักงานทั่วไปที่เคยทำงานด้วย แต่ต้องยอมรับว่ามัสก์ก็เป็นผู้นำที่พร้อมจะฟังเหตุผล หรือเอาความรู้จากคนอื่นอยู่เสมอ เป็นเจ้าของบริษัทที่พร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา

จากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในซิลิคอน วัลเลย์มาเป็นผู้ประกอบการบริษัทจรวดเชิงพานิชย์ ก็ลองจินตนาการภาพเอาแล้วกันครับว่าขอบเขตความรู้นั้นจะต่างกันแค่ไหน ลองจินตนาการว่าเราเป็นผู้บริหารโรงแรม แล้วต้องเปลี่ยนสายงานไปบริหารโรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ดูก็ได้ว่าเราจะต้องเรียนรู้อะไรใหม่บ้าง เราจะเปิดใจรับความรู้ใหม่เมื่ออายุมากขึ้น หรือมีประสบการณ์ด้านใดด้านหนึ่งมากแล้วหรือเปล่า

ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังจากเรื่องของ PayPal มัสก์ก็กลายเป็นเจ้าของบริษัทที่รู้เรื่องวิศวกรรมจรวดอย่างลึกซึ้ง คงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำแบบนั้นได้

ลงมือทำ

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการลงมือทำ อีลอน มัสก์ ทำทุกอย่างที่เขาบอกว่าจะทำ ถึงแม้บางอย่างจะใช้เวลามากกว่าเคยพูดไว้บ้าง แต่สุดท้ายเรื่องเหล่านั้นมันก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ หรือการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ 100%

ในหนังสือเล่มนี้จะเขียนถึงอีกด้านหนึ่งที่เราไม่ค่อยรู้กันมากนักอย่าง ความล้มเหลวในการทำธุรกิจ บริษัทใกล้จะล้มละลาย การโดนยึดอำนาจบริหาร ปัญหาชีวิตครอบครัว และอีกร้อยแปดปัญหาที่คิดว่าถ้าเป็นเราก็อาจจะล้มเลิกไปแล้วก็ได้

ภาพ Musk สูบกัญชาออกอากาศรายการหนึ่ง ทำให้หุ้น Tesla ตกทันที
Musk สูบกัญชาออกอากาศรายการหนึ่ง ทำให้หุ้น Tesla ตกทันที ภาพจาก thetimes.co.uk

แต่สุดท้ายด้วยความกล้าได้กล้าเสีย ความทุ่มเททั้งกายใจของอีลอน มัสก์ก็สามารถใช้เป็นแบบอย่างที่ดีได้ว่า เราควรเข้มแข็งหยัดยืนสู้กับปัญหาและไปให้สุดทาง บางบทอ่านแล้วก็น่าเห็นใจ รู้สึกอิน และรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับการทำธุรกิจยังไงอย่างงั้น

“Most people never pick up the phone. Most people never call and ask. And that’s what separates sometimes the people who do things from those who just dream about them. You gotta act. You gotta be willing to fail. You gotta be willing to crash a burn. With people on the phone or starting a company, if you’re afraid you’ll fail, you won’t get very far.”

— Steve Jobs

เราจะไม่มีวันไปถึงเป้าหมาย หรือความฝันที่เราตั้งไว้ได้เลยถ้าเราไม่เริ่มที่จะลงมือทำ ความกลัวถือเป็นอุปสรรคนึงที่สำคัญที่สุดที่กั้นระหว่างเราและความสำเร็จ สตีฟ จ็อบส์เคยกล่าวคำด้านบนนี้เอาไว้ในช่วงเวลาหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ (ครั้งหนึ่งสมัยสตีฟ จ็อบส์ยังเป็นเด็ก เขาเคยเปิดสมุดหน้าเหลืองแล้วโทรไปหา บิล ฮิวเลจ ผู้ก่อตั้งบริษัท HP เพื่อขอชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางอย่าง ด้วยความกล้าของเด็กวัยรุ่นเลยไปถูกใจ บิล ฮิวเลจ และได้ชักชวนจ็อบส์มาฝึกงานที่บริษัท) โดยบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยหยิบโทรศัพท์แล้วโทร ไม่เคยร้องขอโอกาส ไม่เคยลงมือทำ ติดอยู่ที่ว่ากลัวนั่นกังวลนี่ ถ้าเรามัวแต่กลัวก็ไปไม่ถึงไหนสักที

หนังสือ Elon Musk เล่มนี้ให้แรงบันดาลใจสำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้ที่กำลังหมดไฟได้ดีมากๆ ถึงแม้จะเป็นหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติ แต่ก็ให้ความรู้มากมายหลายอย่าง ประกอบกับอ่านสนุกไม่ยืดเยื้อเรื่อยเปื่อย เราจะได้อ่านเกี่ยวกับปัญหามากมายตั้งแต่แรกเริ่มในการทำธุรกิจ วิธีการบริหารจัดการคน และข้อคิดหลายอย่างให้อดทนทำเพื่อเป้าหมาย

หนังสือ elon musk

ถึงแม้ว่าสไตล์การทำธุรกิจจะแตกต่างกับ ฟิล ไนต์ ผู้ก่อตั้งบริษัท NIKE (ผมเคยเขียนไปแล้วในบทความ Shoe Dog – จากนักบัญชีสู่เจ้าของบริษัท NIKE) แบบคนละเรื่องเลย แต่เราก็ได้เรียนรู้วิธีทำธุรกิจในมุมมองที่ต่างกัน วิธีการที่ไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งโดยรวมก็ดีมีประโยชน์อ่านสนุกทั้งคู่ เป็นหนังสืออีกเล่มที่ควรซื้อติดไว้บ้าน หยิบมาอ่านเมื่อวันเวลาผ่านไปในอนาคตครับ

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ