เรื่องที่ไม่มีใครบอก เกี่ยวกับการออกมาเป็นนายตัวเอง

ผมเขียนบทความนี้ขณะนั่งอยู่ในบาร์โรงแรมริมทะเลแห่งหนึ่งแถวพัทยา และวันที่เขียนบทความนี้ก็เป็นวันธรรมดาที่ไม่ใช่วันหยุดอะไร แน่นอนว่าการออกมาเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัดในวันธรรมดานี่มีข้อดีคือไม่ต้องแย่งกินแย่งเที่ยวกับคนหมู่มากที่จะเดินทางมาพักผ่อนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไหนจะไม่ต้องเจอรถติด แล้วพักคืนเดียวรีบมารีบกลับไปทำงานต่อในอาทิตย์ถัดไป

ฟังดูเป็นเรื่องดีของการเป็นเจ้านายตัวเองใช่ไหมครับ คุณจะตัดสินใจทำอะไรก็ได้ ไปเที่ยวหยุดงานเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีใครคอยมาบังคับ หรือต้องทนฝืนตัวเองให้ตื่นเช้า ฝ่ารถติดเพื่อไปแสกนนิ้วเข้างานให้ทันเวลา ลองถามตัวเองว่าช่วงหลังๆ มานี่คุณมีความคิดอยากจะเปลี่ยนออกมาจากงานประจำมาเป็นเจ้านายตัวเองบ้างหรือเปล่า หรือเห็นโพสต์ของคนอื่นที่ออกจากงานประจำแล้วดูชีวิตดี มีเวลาอิสระเป็นของตัวเองอยู่บ้าง

navana-escape

แล้วก็แน่นอนอีกเหมือนกันคือไม่ค่อยมีใครอยากจะแชร์ประสบการณ์อีกด้านที่หนักหนาสาหัส หรือเคร่งเครียดให้คนอื่นฟังเสียเท่าไหร่ ในเมื่อเขาตัดสินใจออกมาผจญอะไรหลายๆ อย่างเองแล้ว มีแต่คนอยากจะแชร์ประสบการณ์ที่ดีกว่าตอนที่ออกมากันทั้งนั้น

มันเป็นเรื่องดีที่จะทำเหมือนตัวเองประสบความสำเร็จให้คนอื่นรับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาต้องทำงานกับลูกค้าที่ต้องการความมั่นใจในตัวของ vendor ที่เข้ามารับงานออกไป ผมว่าลูกค้าแทบทุกคนแหละครับ ที่อยากจะทำงานกับคน หรือองค์กรที่ดูประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าใจจริงลึกๆ ผู้ประกอบการเหล่านั้นเองจะรู้ว่ามันไม่ได้ดีอย่างที่คนนอกเห็นกัน

เคยได้ยินคำพูดนี้ไหมครับ “Fake it till you make it” หรือมาจากสำนวน act as if ที่ซิกมุนด์ ฟรอยด์ประดิษฐ์ขึ้น ใจความสำคัญของมันคือพยายามแสดงออกอย่างมั่นใจถึงแม้ว่าคุณจะยังไม่ได้เป็น หรืออยู่ในจุดดังกล่าว

ผมยังจำวันแรกที่ออกมาจากงานประจำได้ ช่วงสามเดือนแรกเป็นช่วงปรับตัวที่อยู่ระหว่างความสุข กับความทุกข์ในเวลาเดียวกัน คือคุณจะรู้สึกสุขเมื่อคิดถึงวันเวลาที่คุณได้กลับมาเป็นของตัวเอง ไม่ต้องทำตามอาณัติของใคร คุณจะไปไหนเมื่อไหร่ หรือจะพักเบรค ไปดูหนัง จะเข้านอนเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจเรา แต่ช่วงเวลาเดียวกันก็เริ่มมีความทุกข์เข้ามาปะปนเมื่อต้องคิดถึงอนาคตว่าคุณจะหาลูกค้าเองยังไง อีกเดือนสองเดือนข้างหน้าจะมีเงินพอใช้กับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนหรือเปล่า เพราะมันไม่มีอะไรการันตีความมั่นคงแน่นอนเลย

จะป่วยต้องทำยังไง แล้วถ้าเกิดป่วยตอนช่วงที่ต้องทำงานส่งลูกค้านี่จะทำงานไหวไหม ลูกค้าจะจ่ายเงินหรือเปล่า จ่ายเมื่อไหร่ ปัญหาจิปาถะที่คิดว่าไม่เคยเกิดขึ้นก็จะเกิดให้คุณต้องมานั่งปวดหัวทีละเล็กละน้อย จนมารู้ตัวอีกทีมันก็รวมกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่กินเวลาในการทำอะไรในแต่ละวันไปหลายชั่วโมงแล้ว

ผมเคยอ่านบทวิจัยเรื่องนึงเขียนว่า ความเคยชินจะก่อตัวในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 เดือน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น เปลี่ยนแปลงจากบริบทเดิมที่เราเป็นอยู่ไปมากน้อยแค่ไหน (อ่านเพิ่มเติม: How Long Does it Actually Take to Form a New Habit?) แต่เชื่อไหมครับ แม้ว่าเวลาจะเลยผ่านมามากกว่า 2 เดือน บางทีเราก็ยังปรับตัวเองไม่ได้หรอก เพราะความเครียดจากหลายสิ่งอย่างมันจะรุมเร้าให้เราต้องใช้เวลามากกว่านั้น ที่เราทำได้จริงๆ ก็มีเพียงแค่ปลงกับเรื่องบางเรื่อง ยอมรับแล้วก็เข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเกิด

ปีแรกที่ออกจากงานประจำ ถือเป็นช่วงที่ลำบากมาก การปรับตัว และการหารายได้ถือเป็นเรื่องที่คนทำงานส่วนตัวต้องทน แล้วก็ปรับพฤติกรรมไปเรื่อยๆ จนเจอกับช่วงที่เหมาะสม มันไม่มีจริงหรอกครับที่จะไปเที่ยวทะเล ขึ้นเหนือลงใต้ได้เป็นอาทิตย์ พักผ่อนเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่ตัวเองอยากจะทำ ถึงแม้ว่าอาชีพอย่างผม จะมีหลายบริษัทที่อลุ่มอล่วยในการทำงานทางไกล แต่ท้ายที่สุดการที่คุณตัดสินใจว่าจะไปเที่ยว หรืออยู่ทำงาน มันขึ้นอยู่กับภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ตัวเองสร้างขึ้นเพื่อรายได้ที่มั่นคงขึ้นในอนาคต

จนถึงตอนนี้ ผมเปิดบริษัทซอฟแวร์มาได้เกือบ 3 ปี ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ผมทำงานไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ครั้งล่าสุดที่จำได้ว่าออกมาเที่ยวต่างจังหวัดคือต้นปี พักผ่อนน้อยมาก เพื่อคิดเสมอว่าจะสามารถทำงานได้มากขึ้น รับลูกค้าได้มากขึ้น แล้วก็มีรายได้เข้าบริษัทมากขึ้น แต่ไม่เลย มีช่วงหลังๆ ที่เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่น่ากังวลของการทำงานทางไกล คือการทำงานที่มากเกินไป ไม่ใช่น้อยเกินไปอย่างที่ใครเข้าใจกัน (อ่าน: ทำไมการทำงานทางไกล ถึงได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า?)

เพราะเมื่อไม่มีขอบเขตของการทำงาน ไม่มีพื้นที่ หรือเส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัว และหน้าที่การงาน คุณก็อยากจะทำงานให้มากขึ้น เพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้น อีกทั้งคุณเองก็มีความสุขที่ได้ทำสิ่งเหล่านั้น คุณเริ่มเปิดรับความเครียด เริ่มรู้สึกชินชากับมัน แล้วก็คิดว่ายังไงมันก็ต้องมีต้องเกิดขึ้นในแต่ละงาน เวลาส่วนตัวของคุณเริ่มหายไป เวลาพบเจอกับเพื่อนเริ่มน้อยลง คุณระลึกเสมอว่ามีอะไรที่ต้องทำรออยู่ข้างหน้า ไม่อยากจะเสียเวลากับเรื่องไร้สาระ อย่างการเดินทาง การไปพักสังสรรค์จิบเบียร์เมื่อหมดวัน หรือการเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนเพื่อตัวคุณเอง

คุณเริ่มตอบรับทุกโอกาสที่เข้ามา ตารางการทำงานของคุณแน่นเอียด เวลานอนของคุณเริ่มน้อยลงจาก 8 ชั่วโมง เหลือ 6 ชั่วโมง หรือบางทีก่อนส่งงานคุณก็แทบจะพาโน้ตบุคติดตัวออกไปด้วยทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหารโดยคิดเสมอว่าเผื่อมีเวลาก็จะได้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อยๆ ไม่เปล่าประโยชน์ สิ่งที่คุณคิดว่าจะเริ่มทำก็ไม่ได้ทำ คิดว่าจะไปวิ่งออกกำลังกายวันละชั่วโมงนึงหรอ.. เก็บมันอยู่ใน todo-list อย่างนั้นแหละ หรือจะไปเข้าสมาคม อ่านหนังสือเล่มที่คุณซื้อมา และคิดว่าจะได้อ่านหรอ แทบไม่ได้เปิดมันหรอก

ผมต้องหยุดวังวนนี้ โดยการจ่ายเงินจองโรงแรมตอนที่ตัวเองเมา แล้วให้มัน book ลงในปฎิทินว่าอาทิตย์หน้าต้องไปไหนอะไรยังไง (ผมว่าส่วนมากจะใช้ Google calendar กันอยู่แล้ว และมันก็ฉลาดมากขนาด detect วันที่ใส่ลงปฏิทินให้เราเรียบร้อย) ได้มาหยุดพักเพื่ออ่านหนังสือ นั่งมองคลื่นที่เป็น pattern ซ้ำไปซ้ำมาโดยที่ไม่ต้องคิดถึงเรื่องงานที่ทำ ไม่ต้องเช็คเมล์ จนเริ่มรู้สึกว่านี่คือความท้าทายอย่างหนึ่ง

ความท้าทายคือ การปฏิเสธโอกาสที่จะเข้ามา เพื่อเลือกเก็บเวลาเอาไว้ไปใช้กับการพักผ่อนส่วนตัว

ถ้าคุณผู้อ่านไม่ได้ทำงานประจำ คุณจะรู้เลยว่าการตัดสินใจเลือกเวลาสำหรับส่วนตัวเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ยากมาก เหมือนกับการปฏิเสธความเคยชิน และสิ่งที่อยากได้อยากทำในเวลาเดียวกัน

หลังจากรู้สึกแปลกๆ ที่ไม่ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบ หรือต้องเปิดโน้ตบุคขึ้นมาทำงานแล้ว ก็เริ่มรู้สึกได้ชีวิตส่วนตัวอย่างที่เคยเป็นกลับมา เริ่มมานั่งคิดว่าเมื่อก่อนตอนที่ยังหาลูกค้าไม่ได้นี่เหนื่อย และเครียดขนาดไหน จนมาถึงตอนนี้เราทำอะไรไปบ้างเพื่อได้งานมาทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ มันเหมือนกับการ re-check แล้วนำไปปรับปรุงสิ่งที่ตัวเองทำพลาดไป แล้วจะไม่ทำพลาดอีกในอนาคต มีหนังสือหลายเล่มเขียนเอาไว้ถึงสิ่งที่เรียกว่า “Think week” ของซีอีโอบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Bill Gates

solitude
photo by Joe deSousa — unsplash

Gates ใช้เวลาสองอาทิตย์ต่อปีตัดขาดจากโลกภายนอกเพื่อใช้คิด และอ่านหนังสือ เช่นเดียวกับ Charle Darwin, Isaac Newton และ Pablo Picasso (ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้คำว่า Think week เหมือนของ Gates แต่ส่วนใหญ่ล้วนใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อคิดค้น ประดิษฐ์ และสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ)

ผมเริ่มรู้สึกเฉยๆ กับการเห็นคนอื่นโพสต์ว่าได้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้เมื่อได้ออกมาใช้ชีวิตเป็นนายตัวเอง เพราะอีกมุมช่วงที่ต้องเหนื่อยเจออะไรมา ไม่ค่อยมีใครอยากจะแสดง หรือเสนอประสบการณ์แบบนั้นให้กับคนอื่นหรอก โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานเก่า เจ้านายเก่า หรือที่บริษัทเก่าที่ออกมา มีแต่อยากจะแสดงว่าออกมาแล้วได้ดีกันทั้งนั้น นั่นเป็นเรื่องธรรมดา

พออยู่ตัวแล้ว คุณเองนั่นแหละที่ภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ย้อนกลับไปมองคนอื่นที่กำลังจะตัดสินใจจะออกมาเป็นเจ้านายตัวเอง แล้วก็พูดงึมงัมในใจว่า สิ่งเหล่านี้คุณผ่านมันมาแล้ว แล้วมันก็ไม่ได้สวยหรูเหมือนที่คิดไว้ตอนแรกเลยสักนิด จนผมเองก็คิดเสมอว่าช่างน่าดีใจแค่ไหนที่ตัวเองอยู่รอดมาได้ในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันสูงแบบนี้ จึงอยากจะเขียนเป็นบทความสั้นๆ เกี่ยวกับอีกมุมของคนที่เป็นเจ้านายตัวเอง ว่ามันก็ไม่ได้มีอะไรดีมากมายกว่าที่คนอื่นทั่วไปคิดกัน

แชร์บทความนี้

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ เรื่องที่ไม่มีใครบอก เกี่ยวกับการออกมาเป็นนายตัวเอง

  1. ขอบคุณที่แชร์นะครับพี่ป๊อป. ยังไงก็อย่าลืมรักษาสุขภาพ ดูแลตัวเองนะพี่นะ ^^

แสดงความเห็นของคุณที่นี่

กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ