ตั้งแต่ช่วงทำบริษัทที่สองนี้เข้ามาปีที่ 4 สิ่งสุดท้ายที่จะต้องทำก่อนนอนเลยคือการอ่านหนังสือ สมัยเด็กจนจบป.ตรี ไม่เคยชอบอ่านหนังสือเลย เมื่อก่อนส่วนใหญ่ถ้าจะอ่านหนังสือสอบก็จะพยายามหาอ่านเป็น PDF เพราะคิดว่าพยายามใช้เทคโนโลยีให้เต็มที่เหมือนกับที่เรียนจบวิทย์คอมมา
จนมาเข้าปีสุดท้ายของการเรียนป.โท จำได้ว่ามีวิชานึงให้ไปค้นคว้าสักเรื่องจากหนังสือแล้วเอามาสรุปสิ่งที่ได้นำเสนอหน้าห้อง อาจารย์เหมือนไกด์หนังสือมาให้เป็นลิสต์ มีประมาณ 4-5 เล่ม เลือกมาทำการบ้านเล่มนึงชื่อไทยคือ “พฤติกรรมพยากรณ์” ของ Prof. Dan Ariely เป็นหนังสือจิตวิทยาแบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม หนังสือเล่มนี้เปลี่ยนมุมมองความคิดในการอ่านหนังสือไปเลย เป็นเล่มที่เปิดประตูสู่หนังสือเล่มอื่นๆ โดยจากวันนั้นถึงตอนที่เขียนบทความนี้ก็น่าจะซื้ออ่านเก็บประมาณ 100 กว่าเล่มได้แล้วในเวลา 5 ปี
หนังสือเป็นอย่างเดียวที่ไม่เคยคิดเสียดายเงินตอนซื้อ
เวลาเราซื้อของอะไรสักอย่าง หรืออยากจะได้อะไรสักอย่าง ผมจะมีเทคนิคจับของที่อยากได้ใส่ตะกร้าไว้ก่อน จากนั้นก็ให้มันอยู่ในตะกร้าอย่างนั้นประมาณ 1-2 อาทิตย์ แล้วค่อยมาตัดสินใจอีกทีว่ายังอยากได้อยู่ไหม ถ้ามันยังลังเลอยู่มากๆ ไม่ต่างกับวันแรกที่ใส่ตะกร้า ผมก็จะรู้สึกว่ามันเสียเวลามากแล้วกับการลังเลตัดสินใจ ก็จะตัดสินใจซื้อมาจะได้จบไป พอใช้เทคนิคนี้ มีของกว่า 90% ที่ใส่ตะกร้าแล้วไม่เคยได้ซื้อ หลักๆคือเสียดายเงิน และคิดว่าเอามาก็เสี่ยงที่จะเอามาทิ้ง
แต่หนังสือต่อให้แพงแค่ไหน ถ้าอยากได้ แบบถ้าร้านในไทยไม่มี ต้องสั่งผ่านทาง Amazon ก็จะสั่ง ก็กดใส่ตะกร้ารวมๆ ไว้ให้มันคุ้มพอกับค่าส่ง ตีเป็นเงินไทยมาทีก็หลายพันกับหนังสือไม่กี่เล่ม มันแปลกตรงที่ว่าเราคิดแล้วคิดอีกกับของหลายอย่างก่อนจะซื้อ กับของบางอย่างที่แทบไม่คิดเลยตอนจะซื้อ ไม่ว่าตอนจะมีเงินมากเงินน้อย หนังสือเป็นอะไรที่ซื้ออยู่ตลอดเวลาอย่างน้อยๆ เดือนละเล่ม ถึงแม้จะมีหนังสือกองรออ่านไว้มากแค่ไหนก็ตาม
จุดมุ่งหมายของการอ่านหนังสือ
หลายคนอาจจะบอกว่าซื้อหนังสืออ่านเพื่อเอาความรู้เป็นหลัก ก็คงไม่ผิด แต่ส่วนตัวคิดว่าการอ่านหนังสือมันเป็นเหมือนเป็นเพื่อนในยามที่เราอยู่คนเดียว การอ่านหนังสือมันเหมือนพาเราหลุดจากสถานะที่เป็นอยู่ชั่วคราวเข้าไปในตัวอักษร พยายามจินตนาการถึงบริบทแวดล้อมของเรื่องแต่ละเรื่อง มันก็ดีตรงที่ทำให้เราหยุดคิดเรื่องทุกข์ร้อนใจได้ชั่วขณะ อย่างน้อยก็สามารถทำให้นอนหลับสบาย ไม่มีปัญหาคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้จนนอนไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน
ความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือ หรือสิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือจริงๆ ไม่ใช่การอ่าน แต่เป็นการเข้าใจ และตีความมันในแบบของเราเอง บางทีหนังสือ 500 หน้า อาจไม่มีอะไรสลักสำคัญหรือเราคิดว่าไม่ได้อะไรเท่าไหร่ แต่ถ้าได้อ่านประโยคนึงแล้วเรา trigger อะไรบางอย่างได้นี่แหละคือคุณค่าของการอ่านหนังสือ เราจะเรียนรู้ก็ต่อเมื่อเราประยุกต์สิ่งที่เราอ่านเป็นในแบบของตัวเอง แล้วพอวันนึงเรื่องราวต่างๆ มันจะฝังลงไปในฐานข้อมูลของเราให้หยิบมาใช้ในบางครั้งบางคราวแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องฝืนพยายามท่องจำอะไร
เมื่อก่อนผมจะสรุปหนังสือที่อ่านจบเป็นบทความสั้นๆ แต่พอไม่ค่อยได้เข้ามาเขียน หนังสือที่อ่านจบก็ปิดเล่มใส่ตู้หนังสือแล้วเริ่มอ่านเล่มใหม่ก่อนนอนไปเรื่อยๆ เป็นแบบนี้ต่อเนื่องทุกคืน วันนี้พอมีเวลาบ้างเลยหยิบเล่มที่อ่านมานานแล้วและอยู่ใกล้มือมากำลังจะเขียนสรุป แต่ก็เหมือนลืมแกนหลักของหนังสือเล่มนั้นไปแล้ว เลยเปิดที่ติด tag คั่นไว้ดูไปเรื่อยๆ จนเจอคำว่า “ลดความเสียใจในอนาคตให้ได้มากที่สุด” อยู่ในหนังสือเรื่องจิตวิทยาว่าด้วยเงิน ของ Morgan Housel
จริงๆ ตัวหนังสือเล่มนี้พูดถึงการตัดสินใจที่อาจผิดเพี้ยนของมนุษย์เมื่อมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่าย ลงทุน รวมไปถึงการใช้อารมณ์ในการตัดสินที่บิดเบี้ยวจากผลประโยชน์ที่ได้รับ แต่การลดความเสียใจในอนาคตก็เป็นประโยคที่ดีที่ทำให้เรานึกคิดขึ้นมาได้ว่า
สิ่งที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้
ล้วนมาจากผลการตัดสินใจในอดีตของตัวเอง
มันสะท้อนให้เห็นว่าก่อนที่เราจะลงมือทำอะไร เรายังพอสามารถกำหนดได้ เลือกได้ แต่หลังจากที่เราทำไปแล้ว นั่นแหละคือช่วงที่เราไม่สามารถเลือกหรือควบคุมได้อีก การตัดสินใจในปัจจุบันจึงเป็นเหมือนเข็มทิศที่จะพาเราไปยังเส้นทางข้างหน้า มันอาจจะมีทั้งดีและแย่ แต่ท้ายที่สุดมันขึ้นอยู่กับว่าเราคิดถ้วนถี่ถึงสิ่งที่จะตามมาหรือยัง แล้วเราเตรียมใจที่จะรับผลลัพธ์ในลักษณะที่แย่ที่สุดของทางที่เลือกนั้นหรือยัง
บางทีสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ทุกวันนี้ มันอาจมาจากสิ่งที่เราตัดสินใจไม่ดีไม่รอบคอบในวันก่อน ทุกวันนี้ก็อาจเหมือนกำลังชดใช้กับสิ่งที่ทำลงไป แต่ท้ายที่สุดแล้วถ้ามองมันในแง่ดี ก็เหมือนเรากำลังได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ แล้วเราจะไม่เดินแบบเดิมพลาดอีกเป็นครั้งที่สอง
เอดิสันเคยกล่าวว่า “ผมไม่ได้ล้มเหลวพันครั้ง ผมแค่เจอวิธีที่ไม่เวิร์คจำนวนพันครั้งก็เท่านั้น” ทุกอย่างอยู่ที่มุมมอง และทัศนคติที่เรามีต่อสิ่งต่างๆจริงๆ