รู้เท่าที่ให้รู้

บางทีเราก็เป็นคนเบื่อกับการตอบคำถาม โดยเฉพาะคำถามเดิมๆ

ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบไปงานสังคม คือถ้ามันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องงานก็จะไม่ไปเลย งานแต่ง งานบวช งานมงคล งานศพ งานอะไรก็ตามแต่ที่เรามักจะเคยเพื่อนฝูง หรือพี่ป้าน้าอา โดยทั้งหมดแทบไม่ได้เกี่ยวกับความรู้สึกเลยว่าอยากไปหรือไม่อยากไป แต่เบื่อหน่ายกับคำถามเดิมๆ ที่ต้องเจอมากกว่า

ผมเคยสังเกตว่ายิ่งเรามีปฏิสัมพันธ์กับโซเชียลมีเดียที่ใช้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสที่คนที่จะ interact ส่วนตัวกลับมามากเท่านั้น มองสองมุมมันก็มีทั้งโอกาสที่ดี และเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องเข้ามาในเวลาเดียวกัน โดยถ้าช่วงไหนที่เราอยู่เงียบๆ การ interact ก็จะน้อยลงตามจำนวนที่เราใส่การปฏิสัมพันธ์ลงไปด้วย

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่เชื่อมโยงเก่ง

เราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมาตั้งแต่ยุคโบราณไล่มาตั้งแต่แนวความคิดว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล เรื่อยมายังเรื่องทั่วไปในปัจจุบันกาล บางทีเห็นอะไรนิดหน่อยก็พยายามเชื่อมโยงเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง ทึกทักไปว่าหมายถึงเราหรือเปล่า เกี่ยวกับเราหรือเปล่า คิดอะไรเป็นตุเป็นตะ โดยที่บางครั้งไม่ได้รู้เลยว่ากำลังสำคัญตัวเองอยู่

สมัยเราเป็นเด็ก เราก็จะมานั่งเก็บเป็นทุกข์ไปก่อน เดี๋ยวเรื่องนั้นจะเป็นแบบนั้น เรื่องนี้น่าจะเป็นแบบนี้ เป็นความจริงในแบบของเราเองที่เราเลือกจะเชื่อ โดยที่บางครั้งก็ไม่ได้หาข้อมูลอะไร หรือสำรวจบริบทแวดล้อมให้ถี่ถ้วนก่อนจะนึกคิดเป็นอะไร จนวันเวลาผ่านไปเราถึงค่อยลืมเลือนเรื่องนั้นประหนึ่งเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

ผมเคยเข้าใจว่ามันเกี่ยวกับช่วงอายุ ที่เมื่อเราอายุมากขึ้น เราจะเข้าใจหลายอย่างขึ้น และจัดการเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาได้โดยไม่ยากเย็นเหมือนที่เรายังวัยละอ่อน .. แต่เปล่าเลย เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับอายุ เพราะบางครั้งเราโตพอที่จะเข้าใจได้เองว่ามีเรื่องที่สำคัญกว่าให้ต้องคิด ต้องทำ เวลาอันมีค่าของเราไม่ได้จมอยู่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ทั้งที่ไม่รู้ว่าเรื่องนั้นมันจริงแท้ตามที่เข้าใจหรือเปล่าด้วยซ้ำ

เราได้แต่เพียงแทนค่าสมการนึกคิดไปเองว่าอย่างนั้นน่าจะเป็นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่บางทีเราอาจได้รับตัวแปรเหมือน “รู้เท่าที่ได้รู้” เท่านั้น มันเหมือนข้อมูลที่ถูกคิดแบ่งมาแล้วว่าเราควรจะได้รับแค่ข้อมูลส่วนไหน เราอาจจะได้รับข้อมูลส่วนที่ทำให้เราไขว้เขวจากแกนหลัก แล้วก็ไปปะติดปะต่อเรื่องราวเอง เหมือนหมากที่คนอื่นอยากให้เราเดินไป

เช่นเดียวกัน เมื่อเราโตขึ้น บางทีเราก็จะเลือกเฉพาะเรื่องที่เราอยากให้คนอื่นรู้มาสื่อสาร และแสดงออกเหมือนกัน โดยบางทีผลลัพธ์ที่คาดหวังการจากกระทำแบบนั้น.. มันอาจเป็นการลดคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นก็เป็นได้

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ