หน้าที่ในแต่ละวัน

Never mind your happiness; do your duty. – Peter Drucker

เราทำสิ่งที่ไม่อยากทำเพราะหน้าที่บ่อยแค่ไหนครับ? สมัยเราเป็นเด็ก พอเราไม่อยากทำสิ่งไหน บางทีก็อาจปฏิเสธบ่ายเบี่ยงได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องความรู้สึกของคนอื่นเท่าไหร่ ไม่ต้องคิดมากพะวงหลายเรื่องถึงผลที่จะตามมา อย่างมากสุดก็แค่โดนว่าโดนด่า แล้วก็ได้โอกาสแก้ตัวซ้ำเรื่อย ๆ ถึงแม้จะผิดเรื่องเดิม ๆ

แต่พอเราโตขึ้น สิ่งต่างๆกลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เราเริ่มคิดถึงสิ่งที่ต้องทำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยิ่งสิ่งไหนที่กำลังจะได้ทำครั้งแรกยิ่งคิดแล้วคิดอีก กลัวผิดพลาด กลัวไม่ได้รับโอกาสแก้ตัว กลัวผลกระทบกับสิ่งที่จะตามมาไม่ใช่แค่เราคนเดียว แต่กลับเป็นคนอื่น ๆ ที่เขาอาจไม่ได้รับรู้ถึงการตัดสินใจในครั้งนี้ของเราเลย กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวสิ่งที่เราทำไปแล้วจะทำให้เราเสียใจภายหลัง

ถ้าการเติบโตมาพร้อมกับความรับผิดชอบและหน้าที่ แล้วจริง ๆ หน้าที่ของเราในแต่ละวันคืออะไร?

มันคือสิ่งที่เราได้รับมอบหมายหรือเปล่า หรือมันคือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าอะไรเป็นอะไรโดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอกว่าหน้าที่และความรับผิดชอบคืออะไร หรือมันคือสิ่งที่บางครั้งเราต้องทำแม้ไม่อยากจะทำ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำแล้วเราไม่พร้อมที่จะทำ แล้วเราบ่ายเบี่ยงหน้าที่หรือปัดความรับผิดชอบเหล่านั้นออกไปก่อนเหมือนวัยเด็กได้ไหม

แล้วเราจะได้รับโอกาสเหมือนที่เคยเป็นมาหรือเปล่า?

ผมคิดว่า การที่จะรู้ว่าเรารับผิดชอบหน้าที่นั้นหรือความรับผิดชอบนั้นได้ดีไหม ควรเป็นเรื่องที่คนอื่นมองเข้ามา ไม่ใช่เรื่องที่เราคิดไปเองแล้วตีความ ไม่งั้นหน่วยวัดของเราจะคืออะไร เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราไม่ได้เข้าข้างตัวเองเพื่อให้แค่รู้สึกดีแล้วก็แค่ผ่านไปวันๆ

เวลาที่ผมค่อนข้างสับสนเรื่องงาน ผมมักจะหาอ่านหนังสือหรือบทความของอาจารย์ Drucker มันทำให้เรารู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก มันเหมือนเราไม่ได้เจอปัญหาใดปัญหาหนึ่งนั้นตัวคนเดียว มันเหมือนกับมีคนอีกมากมายที่ struggle เหมือนกันกับเราในช่วงเวลาที่เหมือนกันและต่างกัน มันเหมือนมีอาจารย์มาคอยสอน และอย่างน้อยก็แค่ cheer up ตัวเองให้ผ่านช่วงเวลานั้นไปเหมือนกับช่วงเวลาอื่นๆที่เคยผ่านมา

ผมเคยคิดเล่นๆอยู่บ่อยๆว่า

สมมติสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้อาจไม่มีใครเห็นค่า และไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความเป็นอยู่ของสังคมอย่างเห็นได้ชัดอย่างที่เราตั้งใจไว้ สมมติต่อว่าเราทำมันไปเรื่อยๆจนสุดท้ายแล้วมันล้มเหลว แต่สิ่งที่เราทำแล้วล้มเหลวนั้นมันไปกระตุ้นคนที่ใหญ่กว่า มี power มากกว่าให้เปลี่ยนแปลงสังคมภาพรวมได้ในที่สุด

คำถามคือ แล้วถือว่าเราล้มเหลวจริง ๆ ไหม? ถ้าภาพที่เราอยากเห็นมันเกิดขึ้นจริง ถึงแม้ว่ามือที่สร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่มือของเรา เราจะบอกตัวเองว่านี่คือสิ่งที่เราทำแล้วสำเร็จตามหน้าที่แล้วหรือเปล่า?

นี่แหละหนาอาจารย์เขาถึงบอกว่า เป้าหมายกับความสำเร็จ นั้นเป็นคนละเรื่องกัน

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ