จากศูนย์ไปหนึ่ง

เด็กน้อย.. สิ่งที่ทำให้เราโตขึ้นคือความทุกข์ ไม่ใช่ความสุข

ช่วงโควิดกลับมาระบาดรอบใหม่เป็นอีกช่วงนึงที่ได้อยู่กับตัวเองเงียบๆ เป็นช่วงที่ productive ทำงานแล้วได้งานมากๆ เหมือนกับช่วงก่อนที่จะมีและเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ จริงๆแล้วไม่ได้เกี่ยวกับสถานที่หรอก แต่เป็นเพราะเราใช้เวลาคุยกับคนอื่นน้อยลงและมีสมาธิกับงานในแต่ละวันมากขึ้น ยังไงเสียผมก็ยังสนับสนุนการทำงานแบบ remote หรือจะทำงานที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เหมือนกับที่เคยทำงานวิจัยเล็กๆ และเขียนไปที่บทความ ทำไมการทำงานทางไกล ถึงได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า?

พอทำงานแล้วได้งานมากขึ้น งานก็เสร็จเร็วขึ้นเลยมีเวลาว่างบางช่วงที่สามารถไปคิดเรื่องอื่นได้ ระหว่างคิดไปเรื่อยก็ย้อนกลับมาคิดเรื่องการทำงานที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ปี 2015 และก็คิดไปว่าเราเองที่อยู่ในทุกช่วงเวลาสำคัญของบริษัททั้งหมดเลย แต่สิ่งที่ทำให้จำไม่ลืม และรู้สึกว่าทำให้เราโตขึ้นมากๆคือช่วงที่เริ่มตั้งบริษัทช่วงแรก ผมขอเรียกว่าเป็นช่วงจากศูนย์ไปหนึ่ง

มันเป็นช่วงที่เรายังไม่มีลูกค้าสักคน ไม่มีเงิน ไม่มีใครสนใจ เป็น no one ที่ต้องพิสูจน์ตัวเองทั้งในเรื่องคุณภาพของงาน ความรับผิดชอบ และสภาพจิตใจที่ต้องทนไม่รู้ว่าลูกค้าคนแรก หรือเงินก้อนแรกที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจจะมาตอนไหน ไหนจะเรื่องของเอกสาร การทำบัญชี ฯลฯ มันไม่เหมือนกับการทำงานประจำแล้วมีหน้าที่รับผิดชอบส่วนตัวที่แน่นอน สิ้นเดือนก็ได้ค่าจ้าง ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายมากนักถ้ามันเป็นงานที่มั่นคง

เริ่มจากศูนย์ส่วนใหญ่มีแต่ความทุกข์

ด้วยความกังวลในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น และพยายามไม่ให้เรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้น เราเองก็พยายามหาช่องทางที่จะทำให้ตัวเองไม่ต้องคิดมากมานั่งเครียดจนเกินไป แต่ประเด็นคือร่างกายมันไม่เคยโกหก หลายๆคืนที่นอนแล้วรู้สึกตัวตื่นตอนดึกบ้าง เหงื่อออกเหมือนคนเพิ่งออกกำลังกายบ้าง จิกเล็บมือบ้าง ฯลฯ กว่าจะผ่านไปได้ก็หลายเดือนเหมือนกัน

ถ้ามีคนมาถาม ให้เล่าเรื่องการทำงานหรือที่ผ่านมาของบริษัท ก็คงไม่มีอะไรให้เล่ามากนัก เพราะแต่ละช่วงเป็นช่วงที่ต้องแก้ปัญหาไปตลอด โดยเราเองก็ไม่ได้นึกฝันว่าเรื่องบางเรื่องจะเกิดขึ้น รู้แค่ว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องแก้ไข บางปัญหามีกรอบเวลาที่ต้องแก้ให้จบ การเล่าเรื่องบริษัทโดยทั่วไปจึงเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าจะต้องเล่าอะไรก่อน ไม่รู้ว่าควรจะหยิบจุดไหนมาเล่า หรือถ้ามีใครถามว่าที่ผ่านมามีปัญหาอะไรไหมก็คงจะตอบยาก เพราะมันมีปัญหาให้แก้ตลอด จนลืมไปแล้วว่าได้แก้ไขอะไรไปแล้วบ้าง

แต่สิ่งที่สอนเราได้แน่ๆ คือวิธีการตอบสนองต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต มันเหมือนกับเรามีแม่แบบรูปร่างของปัญหา เหมือนกับการเห็นเค้าเห็นโครงเหมือนเมฆตั้งเค้าก่อนฝนจะตก แล้วเราส่วนใหญ่เราก็ใช้วิธีเดิมเพื่อขจัดปัญหานั้นออกไป ส่วนใหญ่ก็จะได้ผล แต่ก็มีบ้างที่วิธีการเดิมไม่ได้ผล ก็ต้องหาวิธีแก้ไขใหม่ เรียนรู้รูปแบบของปัญหาไปใหม่ เหมือนกับเรายังไม่ได้เข้าใจปัญหานั้นดีพอ แน่นอนว่าทุกปัญหามักจะทำให้เกิดการสูญเสีย อย่างแน่นอนที่สุดคือเสียเวลา

เคยมีคนเคยบอกเชิงประชดประชันตอนตั้งบริษัทซอฟต์แวร์แรกๆเลยว่า “จะทำนั่นทำนี่เองทำไม จ้างเอาก็จบ ใช้เงินก็จบ” ใช่ครับ ผมในตอนนี้ก็ว่าเขาพูดถูก เอาเวลาที่มีค่าไปสร้างหรือเพิ่มมูลค่าให้บริษัทก็ดีกว่า อะไรที่เงินแก้ปัญหาได้ก็ใช้เงินแก้ไขไปก่อน ทำสิ่งที่เราถนัด เอาสิ่งที่ไม่ใช่แกนหลักของธุรกิจออกไปให้ freelance หรือ outsource ทำ

แต่น่าเสียดายที่ตอน 5-6 ปีที่แล้วผมไม่ได้มีเงินมากพอที่จะทำทุกอย่างให้ราบรื่นได้ อย่างที่เคยเขียนไปในบทความ ทุนจดทะเบียน 1,000 บาท ด้วยความที่ตอนนั้นเรายังเด็กและมีเวลา ก็เลือกที่จะทำเกือบทุกอย่างของบริษัทเองทั้งหมดเลย ก็อย่างที่เขียนไปว่าพบเจอแต่เรื่องทุกข์ๆ เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่เคย เราไม่รู้ และไม่คิดว่าจะต้องเจอ สิ่งที่เราเกลียดหรือเลือกบ่ายเบี่ยงที่จะทำกลับต้องเจอและทำด้วยตัวเองทุกอย่าง มันไม่เหมือนกับการทำงานบริษัทอื่นที่คิดว่างานไม่ใช่ก็ลาออกได้ แต่นี่คือบริษัทตัวเอง มันมีแค่เลิกและกลายเป็น loser กับกัดฟันไปต่อ

การที่ต้องทำแทบทุกอย่างทั้งเอกสาร บัญชี ภาษี กฏหมายเบื้องต้น ในวันนั้นทำให้เราในวันนี้มีความเป็นผู้ประกอบการมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก และมันมีผลกับการดำเนินงานในชีวิตประจำวันมากๆ ยิ่งการเป็นผู้ประกอบการแล้วไม่รู้เรื่องบัญชี ไม่ค่อยรู้เรื่องภาษีเลยนี่ถือว่าเป็นจุดอ่อนที่อาจจะทำให้บริษัทเกิดปัญหาได้ในอนาคต ก็คงขอบคุณตัวเองและปัญหาที่สร้างความทุกข์ในวันนั้น ให้เราได้เติบโตอย่างมีรากฐานที่ดีในวันนี้

จากหนึ่งไปเลขอื่นก็คงเป็นเป้าหมายที่ต้องทำ หลายคนก็อาจจะมีวิธีทำให้มันเติบโตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางคนอาจจะค้นพบวิธีการทำแบบเดิมซ้ำๆจนทำให้เลขหนึ่งกลายเป็นร้อยพันหมื่นได้อย่างรวดเร็ว แต่การผลักตัวเองให้ออกจากเลขศูนย์นี่แหละคือประเด็นสำคัญ เป็นส่วนสำคัญที่มีเรื่องจริงปนความเจ็บปวดที่สามารถเก็บมาเล่า เก็บมาเรียนรู้ได้อีกในอนาคต

เราหลุดออกจากเลขศูนย์มาได้สองครั้งแล้ว และแต่ละครั้งที่ออกมาก็ได้แลกหลายสิ่งหลายอย่างไปด้วยในเวลาเดียวกัน บางสิ่งบางอย่างมาพร้อมกับความเสียใจที่บางครั้งเราไม่สามารถย้อนกลับคืนวันเหล่านั้นมาได้ ได้แต่เรียนรู้และจดจำเอาว่าอะไรควรอะไรไม่ควร และพยายามไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกในวันข้างหน้า

ขอบคุณเลขศูนย์ที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโต ถ้าเราไม่ได้เริ่มที่ศูนย์ตั้งแต่แรก เราก็ไม่รู้ว่าตอนนี้จะเป็นยังไง.. ก็คงเป็นผู้ประกอบการที่เปราะบาง ต้องมาเรียนรู้ตอนที่อายุและภาระเริ่มมากขึ้นแล้วล่ะมั้ง

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ