ความสามารถ VS ทักษะ จากหนังสือ Principles

ช่วงล็อคดาวน์นี้ผมได้อ่านหนังสือที่ซื้อมาดองไว้ค่อนข้างเยอะ หนึ่งในนั้นเป็นหนังสือขึ้นหิ้งขายดีและได้รับคำชมมากในหมู่บุคคลที่เป็นผู้บริหารระดับสูงด้วยกัน หนังสือนี้แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษชื่อว่า Principles ของคุณ Ray Dalio ตัวหนังสือเขียนเกี่ยวกับเรื่องหลักการในการใช้ชีวิต และหลักการที่ควรใช้สำหรับการทำงาน (เนื้อหาจะหนักไปเรื่องการทำงานเสียมากกว่า) และเป็นหนังสือที่อ่านค่อนข้างยาก หรืออาจจะไม่อินถ้าไม่ได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารภายในองค์กรขนาดกลาง-ใหญ่

ตัวหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วมีความยาวเกือบ 600 หน้า ถึงแม้จะเป็นหนังสือที่อ่านค่อนข้างยากในช่วงหลังแต่ก็ยังมีหลักการหลายอย่างที่ให้ข้อคิดและสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ หนึ่งในนั้นที่อยากเก็บมาเขียนหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว คือเรื่องของ ความสามารถ และ ทักษะ

คุณ Ray ให้เกร็ดความรู้เล็กน้อยเมื่อต้องอยู่ในช่วงที่เรากำลังคัดเลือกคนเข้ามาทำงานภายในองค์กร โดยใจความสำคัญคือความแตกต่างด้านการมองบุคคลโดยใช้ ความสามารถ หรือ ทักษะ หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะสงสัยว่าสองคำนี้มันไม่เหมือนกันหรืออย่างไร และถ้าแตกต่าง มันจะต่างกันแบบไหนในมุมมองของคนที่เป็นผู้บริหารบริษัทจัดการกองทุนที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก

ความสามารถ คือสิ่งที่บุคคลผู้นั้นมีอยู่ติดตัวซึ่งสามารถใช้งานได้โดยไม่ว่าจะเปลี่ยนเครื่องมือมากมายแค่ไหนในอนาคต สิ่งนั้นยังคงอยู่และช่วยให้บุคคลผู้นั้นสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นตามต้องการ ถ้าเปรียบง่ายๆก็เหมือนกับความสามารถในการวิเคราะห์หรือคิดเป็นระบบ แตกต่างกับทักษะที่เปรียบเหมือนสิ่งที่บ่งบอกว่าบุคคลผู้นั้นมีความรู้ความเข้าใจการใช้เครื่องมือหรืออะไรบางอย่างในการทำงานเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้ สมมติให้เป็นโปรแกรมเมอร์คนนึงมีทักษะการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา COBOL ได้(ภาษาโปรแกรมมิ่งยุคเก่าที่ใช้อยู่น้อยมากไม่ถึง 0.5 % ในปัจจุบัน อ้างอิง) หรือคนที่มีทักษะใช้งานโปรแกรม Excel ได้ แบบนี้เป็นต้น

จากหนังสือ Principle

คุณ Ray เขียนไว้ว่าการจ้างคนโดยมองด้วยทักษะนั้นมีความเสี่ยงสำหรับองค์กรในยุคปัจจุบัน เพราะอะไรต่างเปลี่ยนแปลงเข้าออกอย่างรวดเร็ว เครื่องมือหนึ่งอาจล้าสมัย หมดความเป็นนิยม และถูกแทนที่ด้วยเครื่องมือใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากบุคคลากรที่จ้างมีเพียงทักษะแต่ขาดความรู้ความสามารถในการทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นพื้นฐานก็อาจทำให้องค์กรมีปัญหาเรื่องการจ้างงานในอนาคตได้

บุคคลากรที่มีความสามารถจะเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้งานเครื่องมือและซึมซับทักษะใหม่อยู่ตลอดเวลาจากความเข้าใจที่เป็นความสามารถพื้นฐานของตัวเองอยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจและเอาเก็บมาคิดต่อได้คือ การที่เรามีความสามารถใดความสามารถหนึ่งนั้นสามารถช่วยให้เราได้ทักษะที่อาจอยู่นอกเหนือขอบเขตการทำงานในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย (เช่น นักบัญชีที่มีความสามารถการคิดเป็นระบบ สามารถเรียนรู้ทักษะการเขียนภาษาโปรแกรมมิ่งได้เข้าใจได้อย่างรวดเร็วกว่าคนที่ไม่มีทักษะนี้ หรือวิศวกรที่ชอบพบปะผู้คนมีความสามารถในการโน้มน้าว สามารถผันตัวเองขึ้นมาเป็น sale engineer ได้)

มุมที่จะช่วยให้เราทบทวนตัวเองได้จากหลักการของหนังสือ Principles นี้คือ สิ่งที่เรามีอยู่เพื่อใช้ประกอบอาชีพในแต่ละวันนั้นเรียกว่าเป็น “ความสามารถ” หรือ “ทักษะ” การขบคิดกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมาและยอมรับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาตัวเองและรอดพ้นได้ในโลกที่แทบจะเรียกได้ว่าใกล้จะมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน

แต่สิ่งที่เรายังเห็นกันอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบันคือ หลายองค์กรได้จัดตั้งหน่วย transformation โดยมีพันธกิจหลักในการช่วยเปลี่ยนวิธีและแนวคิดในการทำงานให้สอดรับกับยุคดิจิตอล แต่ก็มักจะไม่เกิดผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้เพราะไม่ได้รับความร่วมมือที่ดีจากบุคคลากรส่วนใหญ่ในองค์กรรวมถึงส่วนที่สำคัญที่สุดอย่างผู้บริหาร ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนได้ทัน อันเป็นที่มาของปลาเล็กกินปลาใหญ่ หรือปลาเร็วกินปลาช้า

“Disrupt or be disrupted” – ระหว่างการค้นหาข้อมูลประกอบบทความนี้ ผมไปเจอ presentation ของ CISCO ตัวนึงค่อนข้างน่าสนใจ ไฟล์การนำเสนอตัวนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Internet of Things แต่เปิดหัวการนำเสนอได้อย่างน่าอ่าน เป็นเนื้อประโยคที่สั้นแต่มีพลัง.. ก็ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะถูกเปลี่ยน

ทำให้ย้อนกลับมามองดูตัวเอง แล้วสรุปสิ่งที่เรามีและทำอยู่ทุกวันนี้เรียกได้ว่าเป็นความสามารถหรือทักษะกันล่ะ

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ