ปลายทางของการศึกษา

ช่วงที่ผมเรียนโทอยู่นี้ เป็นช่วงที่รู้สึกว่าตัวเองขยัน และตั้งใจกับการเรียนมากกว่าปกติของช่วงอื่นในชีวิต อาจจะเป็นเพราะโตขึ้น น่าจะรู้จักรับผิดชอบอะไรมากขึ้นกว่าตอนเด็กสมัยเรียนป.ตรี อีกหนึ่งสันนิษฐานคือป.ตรี มันรู้สึกว่าเหมือนเป็นการบังคับ แต่ ป.โทนี่มันคือการสมัครใจ คือผมจะอ้างอะไรก็ได้นั่นแหละ แต่หลังจากที่ตั้งคำถามกับตัวเองมาแทบทุกวัน ก็คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของ แรงจูงใจ มากกว่าเรื่องใดๆ

ตอน ป.ตรี ที่บ้านออกค่าเล่าเรียนให้หมดทั้ง 4 ปี ต่างกับตอนเรียนโทที่เป็นคนออกค่าใช้จ่ายเอง วิชาบางวิชาก็มีความรู้สึกอยากจะเข้าเรียน อยากจะรู้อะไรใหม่ๆ นอกเหนือจากขอบเขตงาน หรือทักษะที่ทำอยู่ทุกวัน มันเลยทำให้ช่วงเวลา 2 ปีที่ผมเข้ามาเรียนโทเนี่ย แทบจะไม่ได้ลา หรือขาดเลย ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็คิดว่าน่าจะเข้าเรียนมากกว่า 97% จากทั้งหมด 2 ปี ยังไม่ต้องนับการมาทำงานกลุ่มที่มหาลัยอีกเดือนละครั้งสองครั้ง เรียกได้ว่าเอาจริงจังมากเมื่อเทียบตอนเรียน ป.ตรี ที่มาบ้าง ไม่มาบ้าง บางวิชาเข้าไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ หรือวิชาไหนไม่เช็คชื่อก็เจอกันตอนสอบเลยแล้วกัน

ซึ่งผลของมันก็ทำให้เกรดเฉลี่ยตอนจบออกมาไม่ได้ดีเท่าไหร่ครับ แต่ตอนนั้นผมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาอะไร อาจจะเป็นเพราะเรายังเด็ก คิดอะไรน้อยไม่รอบคอบ คือจบออกมาประมาณ 2.8 แต่ก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องหางานอะไร

พอมาตอนนี้อีกประมาณ 4-5 เดือนก็จะจบโทแล้ว และคิดว่าการเข้าเรียนบ่อย ประกอบกับเราเริ่มเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เริ่มวางแผนการทำงาน การเรียนอะไรต่ออะไรได้ด้วยตัวเอง หรืออาจจะคิดว่าตัวเองเป็นคนจ่ายเงินค่าเล่าเรียนเองก็เลยทำให้เกรดเฉลี่ยออกมาค่อนข้างโอเคคือประมาณ 3.4 แต่รู้อะไรไหมครับ.. ผมไม่เคยสนใจตัวเลขนี้เลยแม้แต่น้อย จนเมื่อสองสามวันก่อนได้ยินเพื่อนในกลุ่มพูดกันติดตลกว่า “ถ้าข้อสอบมันน่าจะออกแบบนี้ เราก็จำเก็งข้อสอบแบบนั้นเข้าไปเลยดิ จะได้ผ่าน

คุณผู้อ่านมีความคิดเห็นอะไรกับคำพูดนี้บ้างไหมครับ?

nida-business-school
ถ้าคุณไม่มีเวลาทำสิ่งต่างๆให้ถูกต้องตั้งแต่แรก.. แล้วอะไรที่ทำให้คุณคิดว่าคุณจะมีเวลาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในภายหลัง?

ความเห็นส่วนตัวนะครับ ผมอาจจะโง่มาก หรือผิดมากเลยก็ได้ ผมกลับรู้สึกว่าทุกอย่างมันปลอมไปหมดเลย ถ้าเราตั้งใจมาเรียนเพื่อให้ได้ใบปริญญาแล้วมีเกรดเฉลี่ยที่น่าภูมิใจจากการเก็งข้อสอบ รู้ว่าอาจารย์จะออกข้อสอบอะไร ที่ผ่านมาเคยเป็นยังไง แล้วเราก็ไปเพ่งอ่านหนังสือ หรือทำเฉพาะส่วนนั้น โอเคถ้าสถานการณ์มันเป็นแบบนั้นจริง ก็ถือว่าทำข้อสอบได้ มีโอกาสที่จะได้คะแนนที่ดี หรือผ่านจากวิชานั้นไป

แต่ในโลกความเป็นจริงมันแทบจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย.. โอเค บางงานอาจจะดูตามการทำงานที่เคยผ่านมาว่าคนเก่าเคยทำยังไง template การทำงานเป็นยังไง step 1-2-3 ตามนั้นตามนี้ เจอปัญหาอะไรก็แทบจะมี cookbook ว่าต้องแก้ไขแบบนี้ แต่มันเป็นงานที่เครื่องจักร หรือระบบก็สามารถทำได้หรือเปล่า?

ส่วนตัวผมชอบงานที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อน ไม่รู้มาก่อนว่าถ้าเจอปัญหาแบบนี้ หรืออยากจะสร้างอะไรแบบนึงขึ้นมาต้องทำยังไง หรือตามคู่มือยังไง มันเป็นงานที่ challenge ให้เราลองผิดลองถูก ไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาอะไรตายตัว แล้วเราก็แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการแก้ไขปัญหา หรือการทำงานแบบนั้นที่ตัวเองสร้างขึ้นมันดี หรือไม่ดี แต่มันวิ่งไปถึงจุดหมายได้ โดยระหว่างทางเราต้องหาคำตอบ หรือวิธีต่างๆ ด้วยตัวเองทั้งหมด

มันไม่ใช่การเก็งว่าเดี๋ยวจะมีคำถาม หรือปัญหาแบบนี้เข้ามา แล้วจะต้องไปดูตรงไหน ถามใคร หรือใช้วิธีอะไรแน่ๆ การไม่รู้ และต้องการรู้ถือเป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของการทำงานที่ผมหลงเอามากๆ บางทีรู้สึกว่าตัวเองใช้เวลา 2-3 วันเต็มๆ ในการแก้ไขปัญหาเพียงปัญหาเดียว หรือการทำงานเพียงแค่ฟังก์ชั่นเดียว แล้วก็ยังไม่แน่ใจด้วยว่าจะต้องหยุด หรือไปต่อ เพราะถ้าไปต่อก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน ถ้าหยุดก็เสียดายวันเวลาที่ผ่านไปโดยไม่ได้อะไรกลับมา

ถ้าทุกคนรู้วิธีสร้างสินค้าให้ได้แบบ Steve Jobs โดยแค่อ่านหนังสือชีวประวัติของเขา แล้วทำไมทุกวันนี้เรายังไม่เห็นสินค้าที่มีสเน่ห์เย้ายวนให้หลงใหลอยากจะซื้ออยากจะเป็นเจ้าของเหมือนตอนที่ Steve เปิดตัว Macbook Air ตอนแรกสักทีล่ะ?

ถ้าทุกคนรู้วิธีการสร้างเว็บแอพฯ ฝากไฟล์ออนไลน์ไว้บนคลาวด์เหมือนกับ Dropbox แล้วทำไมคนที่ก็อบแพลตฟอร์มของเขามาทั้งดุ้นกลับไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีผู้ใช้งานทั่วโลกเหมือนกับที่ Drew Houston และ Arash Ferdowsi สร้างขึ้นมานะ

คำถามคือ ถ้านักศึกษาสอบตก แต่ทำสินค้า หรือบริการดังเป็นพลุแตก หรือเป็นสตาร์ทอัพที่ทำเงินได้, ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และการันตีรางวัลมากมาย.. แบบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จหรือเปล่า

น่าสนใจที่ว่าเป้าหมาย กับความสำเร็จถือเป็นคนละเรื่อง

CEO บริษัทหนึ่งอาจจะบรรลุเป้าหมายยอดขายรวมของบริษัทได้เกินพันล้าน แต่เขาเองกลับไม่รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จเลยก็เป็นได้ กลับกัน, นักศึกษาที่เรียนไม่จบ ยังไม่ถึงเป้าหมายเสียที แต่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ ได้ทดสอบความสามารถของตัวเองในเรื่องอื่น จนรู้สึกว่าประสบความสำเร็จในการทำอะไรต่ออะไรด้วยตัวเองบนเส้นทางของตัวเอง มันอาจจะฟังดูต่างกันนิดเดียว แต่เชื่อเถอะ.. มันคนละความรู้สึก คนละแรงจูงใจกันเลย

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ