เน้นกระบวนการ vs เน้นผลลัพธ์

ในเรื่องของการทำงานหรืออะไรก็ตาม ผมมักจะเจอคนอยู่สองประเภทที่เกี่ยวข้องกันแต่อยู่คนละบริบท บริบทแรกคือคนที่เป็นผู้ลงมือกระทำ และอีกบริบทคือผู้ที่ไม่ได้กระทำ แต่ให้คำแนะนำ หรือชักจูง หรือสั่ง, มอบหมาย อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคนกลุ่มแรก

ในกลุ่มผู้ที่จะลงมือกระทำแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทคือ กลุ่มที่ไม่ต้องบอกให้ทำ สามารถคิดและสร้างสรรค์ หรือรับรู้เองได้ว่าแต่ละสถานการณ์ต้องทำอย่างไร กับอีกกลุ่มที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องมีการบอก ต้องแนะนำ เพื่อที่จะให้เริ่มกระทำบางอย่าง หรือภาษาบ้านๆ คือไม่บอกก็ไม่ทำนั่นเอง

เอาล่ะ ถ้าคุณเป็นหัวหน้าทีม คุณชอบลูกน้องแบบไหนครับ

พักไว้แล้วคิดอีกมุมนึงก่อนดีกว่า ถ้าสมมติคุณตั้งใจจะทำอะไรบางอย่าง มีการคิดแผนการมาแล้วพอประมาณ แต่มีคนมาบอกแย้งอยู่ตลอดเวลาว่า ทำไมคุณไม่ทำแบบนี้แบบนั้น หรือต้องอย่างงั้นอย่างงี้ เป็นแบบนี้สถานการณ์ไหนน่าอัดอึดกว่ากันครับ

สำหรับผม ถ้าเป็นเจ้านายหรือหัวหน้างาน ผมจะชอบทีมที่สามารถคิดสร้างสรรค์ทำอะไรเองได้โดยที่ไม่ต้องบอกต้องจี้ก่อน ถึงแม้การตัดสินใจหรือการปฏิบัติหน้าที่ของคนในทีมอาจจะเกิดข้อผิดพลาด หรือมีปัญหาภายหลัง แต่ตราบใดที่เจตนาในการปฏิบัติงานยังทำเพื่อจุดมุ่งหมายที่ตั้งเป้าเอาไว้ หรือผลประโยชน์โดยรวม ผมว่าการผิดพลาดนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ยังดีกว่าด้วยในบางครั้งที่ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากความผิดพลาดนั้นได้

เช่นเดียวกัน ถ้าผมเป็นคนในทีมหรือลูกน้อง บางครั้งก็ต้องการหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ ว่าสิ่งที่คนอื่นบอกกล่าวมานั้นดีจริง หรือคนที่บอกกล่าวมานั้นมีอะไรมากกว่าแค่คำพูด ผมว่ามันเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ถ้าระหว่างคนพูดให้ทำกับคนทำไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรต่อกัน หรือไม่ได้ใช้เงินเป็นเส้นคั่นระหว่างกัน มันก็น่าจะต้องมีอะไรมาให้เราเห็นหรือยืนยันเป็นชิ้นเป็นอันก่อนหรือเปล่า

จึงไม่แปลกที่เด็กรุ่นใหม่จบออกมาทำงานจะไม่ค่อยเชื่อฟังผู้ใหญ่บอกให้ปฏิบัติอะไรตาม ผมว่าความต่างทางความคิด, การทำงานที่ต่างกันระหว่างช่วงอายุ หรือที่เรียกกันว่า generation gap มันก็เรื่องนึงแล้ว และบางกรณียิ่งไม่มีข้ออะไรที่พิสูจน์ให้เด็กมันเห็นว่าคนพูดนั้นของจริงด้วยก็จะยิ่งเกิดการต่อต้านได้ง่ายขึ้น

result oriented vs process oriented

ถ้าโลกนี้มีคนที่สามารถจัดกลุ่มได้ 2 ประเภทคือแบบ เน้นเรื่องกระบวนการ (process-based หรือ process oriented) กับประเภทที่เน้นเรื่องของผลลัพธ์ (result-based หรือ result oriented) แน่นอนความแตกต่างในการทำงานก็จะเกิดขึ้นแน่ๆ

เติ้ง เสี่ยวผิง เคยกล่าวเอาไว้ว่า “It doesn’t matter whether a cat is white or black, as long as it catches mice” แปลเป็นไทยว่า มันไม่สำคัญหรอกว่าแมวจะสีขาวหรือสีดำ แค่มันจับหนูได้ก็พอ – อ่านแล้วก็น่าจะคิดได้เลยว่า เติ้ง เสี่ยวผิงน่าจะเป็นคนแบบ result oriented หรือดูผลลัพธ์เป็นหลัก ขั้นตอนการทำงานจะเป็นอย่างไรก็ได้ แต่ได้ผลลัพธ์ที่ออกมาตามที่คาดหวังไว้ก็โอเค

แต่ก็อาจจะมีคนแย้งว่า อ้าว ถ้าเราไม่ใส่ใจรายละเอียดของการทำงานตั้งแต่แรก ผลลัพธ์มันก็น่าจะออกมาไม่ดีหรือเปล่า เหมือนเราจ้างเชฟร้านข้าวตามสั่งมาทำกับข้าวในโรงแรม 5 ดาว กระบวนการทำอาหารมันก็ต่างกันแล้ว ผลลัพธ์จะคาดหวังออกมาดีได้ยังไง?

แต่บ่อยครั้งเหมือนกันที่เรามัวแต่ไปสนใจกับขั้นตอนการทำงาน ทำให้เวลาในการผลิต หรือผลลัพธ์ขั้นปลายเกิดความล่าช้า เพราะไปใช้เวลากับสิ่งที่เป็นรายละเอียดมากเกินไป

ผมว่าทุกคนควรจะมีกลไกสับเปลี่ยนทั้งสองอย่างอยู่ในตัวเอง ถ้าปัจจัยเรื่องเวลาไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การใช้เวลาเน้นไปที่เรื่องขั้นตอนก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดี เหมือนกับการสร้างมาตรฐานของกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ เหมือนกับการปีนเขา หรือวิ่งมาราธอน ที่ค่อยๆ เก็บบรรยากาศข้างทางไปเรื่อยๆ อินกับความสวยงาม แต่สุดท้ายก็ถึงเป้าหมายอยู่ดี

แต่ถ้าเวลาเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ การเน้นไปที่ผลลัพธ์ก่อน แล้วถ้าเวลาเหลือค่อยมานั่งไล่ปรับปรุงกระบวนการทำงานที่เราได้ผ่านมาก็ถือว่าน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าหรือเปล่า?

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ