ภาษี ประกัน กับชีวิตฟรีแลนซ์

ผมคิดว่าเรื่องที่อาชีพฟรีแลนซ์ไม่ว่าจะสายงานประเภทไหนก็ตามเป็นกังวล และมีคำถามมากที่สุดน่าจะเป็น 2 เรื่องหลักๆ คือ เรื่องภาษีเงินได้ และเรื่องของประกัน จริงๆแล้ว จะบอกว่าเรื่องประกันก็ไม่น่าจะถูกเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ว่าด้วยสุขภาพนี่น่าจะตรงกว่า

ผมออกจากงานประจำกินเงินเดือนบริษัทมาได้ประมาณ 4 เกือบ 5 ปีแล้ว และก็รับงานฟรีแลนซ์มาเรื่อยๆ มีไปทำสตาร์ทอัพบ้าง ทำซอฟแวร์ให้คนอื่นบ้าง บางงานได้เงิน บางงานก็ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าความสนใจในช่วงเวลานั้นเป็นอะไร แล้วเราจะได้อะไรกลับมาในอนาคต อย่างว่า คนเราก็ต้องมีบางโมเมนท์ที่อยากทำตามฝัน และเห็นเงินเป็นเรื่องรอง

แต่เมื่ออายุมากขึ้น ภาระหน้าที่มีมากขึ้น ก็มีอะไรให้ต้องคิดมากขึ้นตามไปด้วย

หลายบทความเก่าๆ ผมก็มักจะเขียนถึงการทำงานแบบฟรีแลนซ์อยู่เสมอ และเรื่องที่เขียนถึงเป็นประจำคือเรื่องความเสี่ยงของรายได้ที่จะเกิดขึ้น เพราะแน่นอนว่าเราไม่ได้มีรายได้ประจำแบบยอดเท่านี้ๆในทุกเดือน บางเดือนงานมาก รายรับก็มาก บางเดือนงานน้อย รายรับก็น้อย เพราะฉะนั้นการบริหารความเสี่ยงจึงเป็นทักษะที่จำเป็นมากเรื่องนึงในการทำงาน

แต่เรื่องที่ทำให้คนเป็นฟรีแลนซ์หลายคนอาจจะเริ่มกังวล หรือกังวลกันมานานแล้วก็น่าจะมีอยู่ประมาณ 2 เรื่องที่คิดออก นั่นก็คือเรื่อง ภาษีเงินได้ และประกันสุขภาพ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเป็นเรื่องประกันสุขภาพ ลองคิดง่ายๆ ฟรีแลนซ์ส่วนมากรับงานเป็นโปรเจค ถ้าสามารถส่งมอบงานได้ ก็เท่ากับว่าได้เงิน แต่ถ้าส่งมอบไม่ได้ เงินก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

ถ้าคุณมีเวลาในการทำงานมากเท่าไหร่ ทำงานได้เร็วมากเท่าไหร่ ในหนึ่งเดือนสามารถรับงานได้มาก ส่งงานได้มาก นั่นหมายถึงรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนก็จะมากตามไปด้วย กลับกันถ้าเดือนไหน ป่วยบ่อย ทำงานไม่ไหว หรือขาดวินัยในการทำงาน เงินและงานก็จะพลันหายไป ดีไม่ดีอาจจะหายไปเลยก็ได้ ลูกค้ามีตัวเลือกมาก ถ้าไม่พิสูจน์ว่าเราสามารถทำงานได้ ส่งงานได้ หรือเป็นมืออาชีพพอในการทำงาน เขาก็มีสิทธิ์ในการหาคนอื่นทำงานหน้าแทน มันไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีอะไรค้ำประกันทั้งนั้น

โอเค สรุปคือต้องพร้อมทำงาน แต่ในบางช่วงที่เกิดป่วย ต้องมีค่าใช้จ่ายไปรักษาตัว ประกันสุขภาพจะช่วยเราได้มาก ซึ่งผมจะเขียนถัดไป แต่อยากจะเขียนเรื่องภาษีเงินได้ก่อนเป็นอันดับแรก

ภาษีเงินได้

หลายคนอาจละเลยความสำคัญของการทำบัญชี หรือความรู้เรื่องบัญชีพื้นฐาน บ้างอาจจะคิดว่าแค่รู้ว่าตกลงทำสัญญากับลูกค้าเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ก็เพียงพอแล้ว จริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรู้เอาไว้บ้าง

  • ลูกค้าว่าจ้างในนามอะไร บุคคลธรรมดาด้วยกัน หรือนิติบุคคล
  • การแบ่งจ่ายเงินเป็นอย่างไร กี่งวดงาน เอกสารใบวางบิล และใบเสร็จออกหรือยัง
  • ลูกค้าหัก ณ ที่จ่าย เอาไว้ ต้องทำยังไง แล้วเอาไปใช้ทำอะไรได้

พวกนี้มีผลต่อการยื่นภาษีเงินได้ปลายปีแทบทั้งสิ้นครับ ถ้าใครที่มีรายได้ในปีนั้นเยอะ ก็ต้องเสียภาษีเงินได้เยอะขึ้นตามขั้นบันได แต่ถ้าเรารู้เรื่องการจัดการภาษี และบัญชีเบื้องต้นแล้ว เราจะสามารถวางแผน และประหยัดโดยใช้การลดหย่อนตามกฏหมายเข้ามาช่วยได้เยอะเหมือนกัน

ผมคงไม่ลงรายละเอียดเรื่องการลดหย่อน, การทำบัญชี หรือจัดการเอกสารเบื้องต้นเพราะมีหลายคนเขียนบทความในอินเตอร์เน็ตเอาไว้เพียบ แค่เสิร์จคำสองคำก็ไล่อ่านไปได้เรื่อยๆ จนน่าจะเตรียมตัวยื่นแบบปลายปีกันได้อย่างสบายใจแล้ว

คำแนะนำของผมในฐานะที่ทำฟรีแลนซ์มาพอสมควร มีสองบริษัทของตัวเอง และทำเรื่องเอกสารภาษีอะไรเองคือ ตามเอกสารให้ครบ ใบหัก ณ ที่จ่ายกับใบเสร็จเป็นของคู่กัน และลูกค้าเองในมุมคนจ่ายเงินก็ไม่อยากจะจ่ายแพงขึ้น ถามก่อนเลยออกในนามอะไร ถ้าบุคคลด้วยกันตกลงกันให้เรียบร้อยจะหัก หรือไม่หัก จะเอาเข้าระบบหรือไม่ หรือถ้าเป็นนิติบุคคลด้วยกัน ทำรับจ่ายอะไรก็ส่งเอกสารกับสรรพากรในแต่ละเดือนให้เรียบร้อย เอกสารทุกอย่างเก็บไว้ 3 ปี เผื่อโดนเรียกตรวจย้อนหลัง กรณีขอคืนที่ถูกหักเอาไว้

แต่ถ้าเซ็งกับการต้องเสียภาษี ไม่เสียได้มั้ย ไม่อยากใช้ลดหย่อนด้วย นานมาแล้วผมได้เขียนบทความเรื่อง เราควรเสียภาษี และนี่คือเหตุผลว่าทำไม เหรียญมีสองด้าน ต่างคนต่างทัศนคติ เปิดกว้างทางความเห็นเพื่อพัฒนาตัวเอง ลองชวนคุยกันได้ครับ

ประกันสุขภาพ

ถ้าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา กินยาสองสามวันก็หาย ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ฟรีแลนซ์เราทำงานที่ไหนก็ได้อยู่แล้ว จะนั่งจามทั้งวันแต่ทำงานอยู่บ้านก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าป่วยหนักขึ้น ต้องเข้าโรงพยาบาล โชคร้ายหน่อยอาจจะต้องนอนโรงพยาบาล มีรักษาใหญ่ ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นตามไปด้วย คนที่มีวินัยในการออม แบ่งเงินเป็นสัดส่วนก็อาจจะเหนื่อยน้อยหน่อย เอาเงินที่กันเอาไว้มาเป็นค่ารักษาในวันที่ไม่สามารถทำงานได้ หรือชดเชยในช่วงที่งานน้อย

แต่สถิติทุกสำนักในประเทศไทยบอกตรงกันว่า คนไทยมีวินัยในการออมต่ำ ใช้จ่ายเงินตามจำนวนเงินที่ได้ ไม่ค่อยแบ่งเก็บออมเอาไว้เป็นสัดเป็นส่วนตามทฤษฏี หรืออุดมคติที่คิดกัน เราจึงได้เห็นหนี้สาธารณะสูงขึ้นตลอด

ถ้าคุณรู้ตัวว่าเป็นคนที่มีวินัยในการออมต่ำ ได้เงินมาก็ไม่ได้กันเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือในอนาคต ผมคิดว่าคุณน่าจะทำประกันสุขภาพเอาไว้เป็นเกราะบางๆ ในยามป่วยไข้ก็น่าจะช่วยได้ในระดับนึง เดี๋ยวนี้ประกันสุขภาพบางเจ้าก็ไม่ได้แพงอย่างที่คิด จ่ายเบี้ยประกันปีละหมื่นกว่าบาท ก็ได้ประกันชีวิตพ่วงประกันสุขภาพพื้นฐานที่มี OPD ไว้ใช้เบิกตอนเจ็บป่วยได้แล้ว

อย่างของผมจ่ายปีละหมื่นนิดๆ มี OPD ให้สองพันบาทต่อครั้ง เวลาป่วยเป็นอะไรก็ไปเอายาที่โรงพยาบาลแล้วใช้สิทธิ์ประกัน เซ็นชื่อกลับบ้านได้เลยไม่ต้องควักเงินจ่าย ส่วนใหญ่เราป่วยเบาเป็นหวัดเจ็บคอนี่ไม่เท่าไหร่หรอกครับ เสียเวลาไปโรงพยาบาล ซื้อยาร้านยาหลักร้อยมากินไม่เกินอาทิตย์ก็หาย แต่ถ้าป่วยต้องนอนหรือผ่าตัดอะไรนีถือว่าช่วยได้มาก

ปีนึงผมไปใช้สิทธิ์ที่โรงพยาบาล 6-7 ครั้งก็น่าจะคุ้มกับเบี้ยประกันที่เสียไปแล้ว อย่างล่าสุดไปเจาะซีสต์ที่ตามา เกินวงเงินนิดหน่อยจ่ายสองร้อยกว่าบาทรับยากลับบ้านทำงานต่อไม่เจ็บตัว และข้อดีอีกข้อของการมีประกันคือมันใช้ลดหย่อนภาษีได้ เพราะฉะนั้นทำไว้เถอะครับ มันมีประโยชน์แน่เมื่ออายุเราเพิ่มขึ้น และอะไรๆ ก็ไม่ได้แน่นอนเหมือนที่เราคิดเอาไว้

การบริหารความเสี่ยงอาจจะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่อยู่ใกล้ตัวเรามาก ถ้านัดลูกค้าสิบโมงเช้า เราจะไปเส้นทางไหน การเผื่อเส้นทาง หรือเผื่อเวลาก็เป็นการบริหารความเสี่ยง ถ้าคิดว่าเดือนหน้างานน้อยตามทุกปีที่ทำงานมา ก็ลดค่าใช้จ่ายบางส่วนเอาไว้ก่อนถึงให้เป็นนิสัย หรือบางคนรับหลายงานในหนึ่งเดือน ก็ต้องเผื่อเวลาเอาไว้เหมือนกัน เช้าทำงานนี้ บ่ายทำงานนี้ เย็นไปออกกำลังกาย มันก็คือการบริหารเวลาส่วนตัวกับเวลางาน ทุกอย่างมีความเสี่ยง ก็ต้องจัดการเผื่อเอาไว้ล่วงหน้าจะได้ไม่เป็นปัญหาให้มานั่งกลุ้มในภายหลัง

ตัวอย่างการไม่บริหารความเสี่ยงที่น่าจะหยิบมาเป็นบทเรียนได้ดีที่สุดน่าจะเป็น กรณีของประเทศเวเนซูเอล่า ที่มีน้ำมันมากมายเหลือล้นจนไม่หารายได้จากทางอื่น สุดท้ายรายได้หลักหดหาย ดังที่เขาพูดกันว่า resource curse ทำให้ประเทศพังมาจนถึงทุกวันนี้

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ