การควบคุมอารมณ์ในโลกโซเชียล

ความรู้สึกในตอนนั้น กับผลกระทบในอนาคต

อะไรทำให้เรารู้สึกเป็นกังวลมากกว่ากันครับ? ระหว่างการอยากจะหาที่ระบายความรู้สึกที่มีอยู่ตอนนั้นลงไปในหน้าฟีดของ Facebook หรือจะทวีตอย่างกระฟัดกระเฟียดสักหนึ่งข้อความบน Twitter กับการคิดถึงผลที่ตามมาในอนาคต ผมว่าการที่เราเติบโตขึ้น พร้อมกับมีวุฒิภาวะมากขึ้น เราจะทราบคำตอบของคำถามนี้ได้ไม่ยาก ประเด็นคือเราเติบโตขึ้นมาจริงๆ รู้ผิดชอบชั่วดีได้จริง หรือแท้จริงแล้วเราแค่รู้ว่าต้องแสดงออกยังไงต่อหน้าสังคมกันแน่ หลายคนอาจจะแย้งขึ้นมาว่า ก็มันเป็นพื้นที่ส่วนตัวของฉันในการแสดงออกอะไรสักอย่างก็ได้ เราสามารถแสดงออกอะไรอย่างเสรีก็ได้มิใช่หรือ?

ถามว่าผมชอบเรื่องนี้ไหม? ก็ไม่ ผมไม่ได้อยากจะสนใจอะไรมันเสียเท่าไหร่ เพราะปรกติส่วนตัวก็ไม่ใช่คนที่โพสต์อะไรบ่อย หรือต้องใช้ความเป็นจริงเป็นจังอยู่ในโลกเสมือนที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ที่อยู่ดีๆ เอะใจอยากจะเก็บมาเขียนเป็นบทความเลยคือมีวิชานึงของป.โท ที่เรียนอยู่พูดถึงเรื่องนี้พอดี มันทำให้ผมคิดอะไรได้บางอย่าง และดลใจอยากจะเก็บมาเขียนบันทึก

การควบคุมอารมณ์ในโลกโซเชียล กับ ความเป็นส่วนตัว

ผมไม่แน่ใจว่าโปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่ ที่ทำงานเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม หรือสร้างแพลตฟอร์มให้ลูกค้า, ให้คนทั่วไปใช้เป็นประจำจะมีความคิดนี้หรือเปล่า แต่ส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวค่อนข้างมาก(พวกนโยบายความเป็นส่วนตัวก็ด้วย) เพราะผมมักจะได้ยิน requirements จากลูกค้าอยู่เสมอว่าอยากจะทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ อยาจะมี A เพื่อใช้ในการสร้าง B ในอนาคต บางอย่างมันก็ฟังดูค่อนข้างรุกล้ำผู้บริโภคไปนิดจนเราเองก็แอบกลัวอยู่บ้างเมื่อไปใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ

ผมว่าความเป็นส่วนตัวเนี่ยถือเป็นเรื่อง common sense ที่ไม่ว่าใครก็ตามควรจะนึกถึงบุคคลอื่นๆ ด้วยเวลาจะทำ หรือตัดสินใจอะไรออกไป บางทีการอยากรู้อยากเห็นอาจจะเป็นการทำร้ายใครบางคนทางอ้อมอย่างไม่ตั้งใจก็เป็นไปได้เหมือนกัน

แต่การควบคุมอารมณ์ตัวเองในโลกโซเชียลก็ถือเป็นเรื่องนึงที่สำคัญไม่แพ้กัน

policy

หากต้องการพูดถึงอดีต คงไม่แปลกที่สามารถพูดย้อนกลับไปถึงตัวแพลตฟอร์มได้ด้วยว่า การแสดงโพสต์ หรือความเห็นอย่างสาธารณะโดยที่ผู้โพสต์ หรือผู้แสดงความคิดเห็นไม่สามารถเลือกเปลี่ยนสถานะได้(ในอดีตคือแบบ public ยกตัวอย่างของ Facebook) แต่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ก็มักจะออกมาชี้แจงในตอนท้ายหลังจากเกิดเหตุอะไรไปแล้วก็ตามเสมอว่า “เราเขียนอยู่ในนโยบายความเป็นส่วนตัว และคุณก็ยอมรับมันแล้วเมื่อตกลงสมัครเป็นสมาชิกของเรา” ผู้ใช้ผิดไหมที่ไม่รู้ว่าโพสต์ตัวเองถูกตั้งค่าเริ่มต้นเป็นสาธาณะ แล้วแพลตฟอร์มผิดไหม ที่เขียนบอกไว้แล้ว แต่ผู้ใช้ไม่ได้อ่านเอง

อันเป็นเหตุนำพามาซึ่งความรับผิดชอบ ซึ่งส่วนใหญ่แน่นอนว่าผู้ให้บริการจะปฎิเสธ ผมมองว่าความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องที่เราเองก็ต้องทำความเข้าใจด้วยส่วนนึง แต่สิ่งที่สำคัญอาจจะไม่ได้อยู่ที่ความเป็นส่วนตัวก็ได้.. ที่แท้อาจจะเป็นเรื่องของเนื้อหาที่ถูกนิ้วมือกดคีย์ enter ขึ้นไปสู่โลกออนไลน์มากกว่า

ถ้าเรารู้ว่าใครหนึ่งคนที่เราต้องการจะหาข้อมูล หรือต้องการรู้จักคนดังกล่าวให้มากกว่าที่มีอยู่เป็นคนยังไง ถือเป็นเรื่องที่ดีไหม? แล้วดีไม่ดีขึ้นอยู่กับอะไร เรากำลังหาข้อมูลของคนๆ นั้นเพื่ออะไร.. ใช้ประกอบเมื่อมีคนมาสมัครงาน? เอาไว้ย้อนดูความคิดเห็นต่างๆ ว่าจะเข้ากับองค์กรได้ไหม นิสัยใจคอเป็นอย่างไร หรือใช้ประกอบเมื่อเราอยากจะรู้จักคนใหม่ๆ เป็นการส่วนตัว อาจจะเป็นเพศตรงข้ามที่เราสนใจอยู่?

นั่นหน่ะสิ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าการโพสต์ หรือแสดงความเห็นของบุคคลคนนั้นเป็นของจริง บางทีตัวจริงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ได้

เราตัดสินจากสิ่งที่เรารับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเพียงอย่างสองอย่างก็สามารถตีความบุคคลคนนั้นได้เลยจริงหรือ? แล้วคนใกล้ตัวของเราเองเนี่ย มีสิทธิไหมที่เราอาจจะรู้จักแค่ชื่อ ซึ่งเราอาจจะไม่ได้รู้จักข้างในของคนนั้นจริงๆ ก็ได้ ส่วนตัวผมไม่ได้ mind อะไรมากกับเรื่องว่าจะแสดงออกอะไรแบบไหนจากใครคนใด ผมสนใจมากกว่าว่าที่แสดงออกมานั้นเป็นของจริงจากข้างใน ไม่ใช่ได้อิทธิพลมาจากสิ่งที่อยู่นอกใจ แล้วแสดงมันออกมาเพื่ออะไรบางอย่าง

มันไม่เคยผิดที่อยากดูดีในสายตาคนอื่นๆ แต่มันอาจจะผิดต่อตัวคุณเองก็ได้.. ที่ไม่เคยจะรู้สึกแบบนั้นจริงๆ

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ