Ownership กับบริษัทตั้งใหม่

กำลังหาเหตุผลที่จะออกจากงานประจำ?

ผมว่าคนที่ทำงานประจำหลายๆ คนตื่นเช้าเข้างานเก้าโมง เลิกห้าโมงจันทร์ถึงศุกร์ต้องเคยคิดมีความคิดนี้บ้าง แต่ด้วยเหตุผลสุดคลาสสิคไม่กี่ข้ออย่าง “อยากเป็นเจ้านายตัวเอง”, “อยากมีเวลาทำงานแบบ flexible hour”, “เงินเดือนไม่ขยับไปไหนสักที” หรือ “เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้” ก็น่าจะครอบคลุมเกือบทั้งหมดของคนที่อยากเปลี่ยนงาน ในฐานะที่ผมเองก็ออกจากงานประจำมา 2-3 ปีแล้ว อยากจะเขียนถึงชีวิตที่ไม่ได้ทำงานประจำ(ในบริษัทอื่น) บ้างเหมือนกัน

ไม่อยากจะเปลี่ยนงานอีกแล้ว ทำได้ไหม?

คือคำถามที่ผมถามตัวเองหลังจากออกจากงานประจำได้ไม่นาน คือก็คิดไปเรื่อยว่าถ้าเปลี่ยนงานอาจจะด้วยเหตุผลอะไรบางอย่างไปทำงานที่ใหม่ พอสักพักก็จะมีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนงานอีก ถึงแม้ว่างานมันจะสนุก เงินโอเค หรือเพื่อนร่วมงานจะดีแค่ไหนก็ตาม แล้วจะมีความคิดไหนบ้างไหมที่จะแทรกขึ้นมาว่า การทำงานที่นี่น่าจะเป็นที่ทำงานที่สุดท้าย ที่ไม่อยากจะเปลี่ยนงานไปบริษัทไหนอีกแล้ว.. ก็อาจจะฟังดูน่าแปลกที่ความคิดนี้พุ่งขึ้นมาภายในหัวของคนที่อายุเพียง 20 ปลายๆ

ผมเปลี่ยนงานจากบริษัทนึงไปบริษัทนึงด้วยเหตุผลอยู่สองข้อคือ งานเดิมที่ทำอยู่มันซ้ำซาก เริ่มจะไม่สนุก โปรเจคใหม่เข้ามาทีไรก็ทำงานอยู่แต่ขอบเขตเดิมๆ มันเหมือนกับเราไม่ได้พัฒนาอะไรสักเท่าไหร่ กับอีกเหตุผลนึงคือรู้สึกว่างานที่ทุ่มเทไปนั้นน่าจะไม่คุ้มกับที่ได้กลับมา อย่างเช่นเรารู้สึกดีกับงานที่ไหนที่นึงมากเลย คือเราทำเต็มที่แทบจะเกินร้อยด้วยซ้ำไป อาจจะเพราะมันท้าทาย สิ่งแวดล้อมดี แต่บางทีก็ย้อนกลับมานั่งคิดเล่นๆ ว่า การที่เราทำมากมายขนาดนี้ ผลลัพธ์ที่ได้กลับมามันคุ้มหรือเปล่า.. ตัดเรื่องเงินทิ้งไปนะครับ

เราทำงานเติบโตขึ้นทุกวัน อายุมากขึ้น ประสบการณ์ทำงานมากขึ้น ทักษะอาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เริ่มรู้สึกบางอย่างได้ว่าความเป็นเจ้าของ หรือกรรมสิทธิ์ใดๆ มันก็ไม่ได้โตขึ้นตามมาด้วย ท้ายที่สุดบริษัทส่วนใหญ่เมื่อพนักงานออกไป ก็ต้องหาพนักงานใหม่เข้ามาทำงานแทน โดยให้ผลลัพธ์ส่งมอบลูกค้าได้เหมือนเดิม มันไม่ได้เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์อะไรสักอย่าง หรือสร้างบ้านเองหนึ่งหลังที่รู้สึกว่ามันผูกพันธ์ตามเราขึ้นมาอย่างที่มันควรจะเป็น

ซึ่งในตลาดอาจจะมีหลายบริษัทก็ได้ที่ให้บางอย่างตอบแทนพนักงานที่มี royalty ต่อองค์กร อาจจะเป็นหุ้นเล็กน้อย ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น หรือลำดับความเป็นอาวุโสตามอายุงานที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดี แต่ในมุมกลับกันองค์กรบางองค์กรที่ไม่มีนโยบายไล่พนักงานออก โดยไม่ว่าจะทำงานแย่ขนาดไหน สุดท้ายคนคนนั้นก็เหมือนอยู่ตัว ไปไหนไม่ได้ อายุยิ่งเยอะจะเปลี่ยนงานก็ยากขึ้น ทักษะความสามารถก็อาจจะไม่ถึงเกณฑ์ที่บริษัทปลายทางเปิดรับ หรือจะเป็นปัจจัยเรื่องเงินเดือน อายุเยอะขึ้น ประสบการณ์ทำงานมาก เรียกเงินเดือนสูง ความคาดหวังสูง ก็ทำให้หางานได้ยากขึ้นตามไปด้วยเหมือนกัน

ถ้าไม่อยากเปลี่ยนงานอีกแล้ว อยากจะทำงานที่ไหนที่นึงนานๆ หรืออยู่กับมันไปเรื่อยๆ

ownership

ส่วนตัวผมมองว่าตัวเองคงไปทำงานกับบริษัทอื่นไม่น่าได้นานนัก ก็เลยตัดสินใจเปิดบริษัทใหม่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาเอง อย่างน้อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าเราเริ่มมันจากศูนย์ จากสองมือ คอมพิวเตอร์ แล้วก็ทักษะการทำงานที่สั่งสมมา ถึงแม้มันจะโตช้า แต่อย่างน้อยมันก็โตไปพร้อมกับเรา แล้วมันก็อาจจะเป็น “บริษัทที่ทำงาน ที่สุดท้าย” ก็ได้ จนแล้วจนรอดผ่านมา 3 ปีเศษ ล้มบ้างเหนื่อยบ้าง ผิดถูกบ้าง แต่มันก็ทำให้เราโตขึ้นกว่าทำงานประจำจริงๆ การเปิดบริษัทที่แทบจะทำทุกอย่างเองมันทำให้เรารู้ถึงกระบวนการในการทำธุรกิจ การทำบัญชี การทำตามกรอบกฏหมาย รวมไปถึงการเตรียมพร้อมของสภาพจิตใจหลายๆ อย่าง แน่นอนมันมีความคิดที่อยากจะเลิกแล้วกลับไปทำงานประจำบ้างในช่วงแรก แต่ก็กัดฟันอดทนอยู่มาถึงทุกวันนี้ วันที่เริ่มลืมตาอ้าปากได้ และคิดว่าที่ผ่านๆ มานั้นมีเหตุผลอยู่ไม่กี่อย่างที่ทำให้เรามีอย่างทุกวันนี้ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ ownership โดยเฉพาะ “บริษัท” ที่ต้องมีกรรมการ หรือผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนเริ่มตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป

ตอนที่เริ่มมาเรียนโท MBA ก็ได้อ่านหนังสือบริหารหลายเล่ม บางทีก็ฟังประสบการณ์จากอาจารย์ที่สอนเล่าให้ฟังแล้วกลับมาค้นคว้าต่อในเน็ตบ้าง ก็พบว่าหลายๆ ธุรกิจที่ใหญ่โตทุกวันนี้มักจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ไม่กี่ข้อ ซึ่งข้อพวกนี้ก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนมีได้ด้วยซ้ำ ผมยกตัวอย่างเช่น passion หรือการรักในสิ่งที่ทำอยู่จริงๆ บางคนอาจจะมีเหตุผลของการเปิดบริษัทเองอยู่ไม่กี่อย่างคือ สบาย คิดว่าทำงานที่ไหนก็ได้ ทำงานเมื่อไหร่ก็ได้ หรืออีกอย่างคือเป็นเจ้านายตัวเอง ทำงานรับเงินเอง ซึ่งไม่มีเหตุผลเรื่องความรักในการทำสิ่งนั้นอยู่เลยตอนเริ่มทำธุรกิจ เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า เจออุปสรรคเยอะขึ้นก็เริ่มท้อ ลูกค้าไม่มี หรือต้องทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยมากกว่างานประจำ พอไม่ได้รักหรือชอบในสิ่งนั้นที่ทำอยู่จริง ก็อาจจะท้อแล้วล้มเลิกไปเลย ดูอย่างเช่นเจ้าของร้านอาหาร หรือเจ้าของร้านกาแฟอย่างทุกวันนี้ก็ได้

ตัวอย่างอีกข้อคือการทำธุรกิจแบบยั่งยืน(sustainable) การส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า คำนี้ฟังดูเหมือนอุดมการณ์ของคนช่างฝันนะ แต่เรื่องจริงคือถ้าเปิดบริษัทแล้วคิดแต่จะทำสินค้าแล้วส่งมอบให้เสร็จจบงานรับเงิน เน้นปริมาณไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นเลยแบบนี้มันจะอยู่ได้นานจริงหรือเปล่า การทำธุรกิจให้ยั่งยืนสำหรับผมคือทำตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ หรือปณิธานที่ตั้งขึ้นเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมาย หรือสร้าง ecosystem ระหว่างผู้ค้ากับลูกค้า มีความสัมพันธ์ที่ดี หรือคิดสร้างสินค้าโดยมีเจตนาที่ดีเพื่อสังคมอย่างเช่นที่บริษัทใหญ่ๆ ในโลกนี้ทำอยู่เช่น SIEMENS หรือ Volvo เป็นต้น

ถ้าดูประวัติบริษัทพวกนี้ จะเห็นว่ามาจากความคิดภายในของผู้ก่อตั้งแต่ละคนทั้งนั้น แล้วผู้ก่อตั้งนี้เองที่ทำให้เรารู้สึกถึงการมี ownership ต่อบริษัท ต่อธุรกิจที่ตัวเองสร้างขึ้นสูงมาก การมีส่วนร่วม และการใส่ใจเพื่อให้ขั้นตอนแต่ละอย่างเป็นไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็นจริงๆ แน่นอนว่ามันอาจจะเหนื่อย ลำบาก แล้วก็รู้สึกท้ออยู่บ้างในตอนแรก ยิ่งธุรกิจใหม่รายไหนที่มีหุ้นส่วนเยอะๆ แล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นฟันเฟืองที่หมุนขับเคลื่อนบริษัทอยู่คนเดียวด้วยแล้ว ก็คงจะรู้สึกมากกว่าปรกติ เรื่องข้างนอกก็หนัก เรื่องภายในก็ไม่สบายใจ แต่ผมก็ยังเชื่อว่าการมี ownership จะช่วยให้เราผ่านไปได้ครับ ของที่สร้างขึ้นมากับมือ ยังไงเสียจะหนักจะเหนื่อยแค่ไหนก็พยายามประคองให้มันเดินต่อไปได้

ใครทำ.. คนนั้นได้ แล้วถ้าไม่ทำ ใครจะทำกันล่ะ :)

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ