เมื่อ Agile อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน

เมื่อคุณเห็นคนที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคนอื่นสิบเท่า อย่าเข้าใจว่าพวกเขาทำงานหนักกว่าคนอื่นสิบเท่า เพราะที่จริงพวกเขาใช้ความคิดสร้างสรรค์หาทางออกที่ง่ายกว่าคนอื่นถึงสิบเท่าต่างหาก — หนังสือ Rework

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะผมเองทำงานอยู่ในแวดวงไอทีหรือเปล่า ถึงได้ยินศัพท์พวกนี้บ่อยมาก เรียกได้ว่าตั้งแต่จบตรีออกมาทำงานจนตอนนี้จะจบโทก็ยังได้ยินอยู่สม่ำเสมอ “เราต้องใช้ Agile เข้ามาช่วยพัฒนา”, “พวกเราใช้ Agile กันอยู่แล้วครับ” หรือจะเป็น “มาลองใช้ Agile กันไหม ได้ยินมา น่าจะดีนะ” ซึ่งทุกครั้งที่ได้ยิน ผมก็จะอยากรู้อยากเห็นต่อเสมอว่า พวกเขาทำสินค้า หรือบริการอะไรกันนะ? ทำไมถึงคิดว่าพวกกระบวนการต่างๆ (รวมทั้งที่นอกเหนือจาก Agile) มันสามารถช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้นได้ขนาดนั้น คิดไม่ตกก็นึกได้อยู่สองอย่างคือ ตอนทุกวันนี้ไม่มีระบบแบบแผนอะไร แล้วบางคน(หรือทุกคน) ก็รู้สึกว่าต้องเปลี่ยนอะไรสักอย่าง และอีกอย่างคือ ยังไม่แน่ใจว่ามันจะช่วยได้จริงไหม แต่เห็นว่าคนอื่นนำไปปรับใช้แล้วดีขึ้นเลยอยากลองทำตาม

navana-nature-escape

Agile หรือ Kanban? หรือที่จริงแล้วเราต้องการแค่ todo list?

ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบหาเครื่องมืออะไรใหม่ๆ มาลองใช้อยู่แล้วโดยไม่เกี่ยงว่าจะต้องเสียเงินรายเดือน ผมคิดเสมอว่าถ้าสมมติยอมจ่ายเพื่อเจอเครื่องมือสักตัวนึงที่สามารถเปลี่ยนกระบวนการทำงานบางอย่าง หรือใช้เวลาในการทำเรื่องไม่เป็นเรื่องให้เร็วขึ้นได้มันก็คุ้มที่จะลอง แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปได้ในระยะยาว

ด้วยทีมพัฒนาที่มีขนาดเล็ก อย่างมากเต็มที่ก็ 4-5 คนไม่เกินนี้ต่อโครงการ เปลี่ยนมาหลายแบบ หลายผู้ให้บริการทั้ง Agile ที่มีฟีเจอร์หลากหลาย เป็นเครื่องมือทำได้หลายอย่างมาก แล้วก็เชื่อมต่อกับที่เก็บไฟล์ซอร์สโค้ดได้เลยทันที แต่ก็รู้สึกว่ามันอุ้ยอ้าย มีพิถีรีตรองที่มากเกินไป บางอย่างเป็นงานที่สามารถทำ หรือแก้ได้เสร็จภายใน 2-3 นาที แล้วส่วนใหญ่ในทีมทุกคนก็ทำงานในส่วนของตัวเองอยู่แล้ว จะมาเปิดเว็บ หรือแอพฯ แยกต่างหากก็ดูหลายขั้นตอนเกินไป จึงเปลี่ยนมาใช้แค่ Kanban board อย่าง Trello ที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

Kanban นั้นสะดวกกับทีมขนาดเล็กอย่างเรามาก โดยเฉพาะทีมที่ไม่มีคนทำหน้าที่แจกจ่ายงานอย่างชัดเจน แค่คุยกันเป็นกลุ่มสั้นๆ ช่วงเช้า หรือบ่าย สร้าง task ที่ต้องทำขึ้นมาในบอร์ด ใครรับผิดชอบตรงไหนก็จัดสรรงานเจาะจงไป หรือใครพบปัญหาตรงไหนก็ใส่ชื่อคนที่เกี่ยวข้องเข้าไป วิธีนี้สะดวก และง่ายกว่า Agile ทั้งกระบวนการสำหรับทีมเล็กๆ

แต่มาช่วงหลังๆ โครงการบางโครงการไม่ต้องใช้คนเยอะ อาจจะคน หรือสองคนก็สามารถดำเนินการโครงการนั้นได้ บางทีก็คิดว่า Kanban มันก็ดูเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเกินไปหน่อย เพราะในเมื่อทุกคนไว้ใจกันอยู่แล้ว คุยกันว่าใครจะทำตรงไหน เมื่อไหร่อะไรยังไงก็คิดว่าไม่น่าจะต้องใช้เครื่องมือ หรือเปิดเว็บ, แอพฯ เหล่านั้น ขอแค่เหมือนบันทึกส่วนตัว หรือเป็น task ที่แชร์กันได้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

จนท้ายที่สุด ก็รู้สึกว่า todo-list น่าจะเป็นเครื่องมือที่เหมาะที่สุดสำหรับทีม และบริษัทของเรา หลังจากหันมาใช้ todo-list อย่าง Wunderlist หรือ Todoist จริงจัง 2 ปีให้หลังนี้ ผมก็ไม่ต้องใช้พวกบริการ หรือเครื่องมืออันอื่นอีกเลย คือจริงๆ แล้ว Agile กับ Kanban ก็ยังเป็นกระบวนการที่ดี มีประสิทธิภาพสูง และผมเองก็อยากใช้แบบจริงๆ จังๆ เหมือนกับทีมใหญ่ๆ ใช้กันครับ แต่ด้วยสภาพแวดล้อม และบริบทที่มีอยู่ตอนนี้ เราเลยเห็นว่าเครื่องมือพวกนั้นมันยุ่งยาก และซับซ้อนเกินไป แทนที่มันจะช่วยให้งานเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลับต้องมาใช้เวลามากขึ้นกับระบบแทนที่จะเป็นตัวงานจริงๆ

ลองจินตนาการว่าคุณเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลก็ได้ ทีมของคุณย่ำแย่มากกำลังจะตกชั้น แต่คุณกลับเอาเงินไปทุ่มให้กับการพัฒนาที่นั่งในสนาม และอุปกรณ์ทั่วไป แทนที่จะเป็นตัวนักเตะ หรือแผนการทำทีม — นักกีตาร์ระดับโลกต่อให้ซื้อกีต้าร์มาจากโรงรับจำนำ หรือซื้อลำโพงมาจากตลาดนัด ก็ยังเล่นได้อย่างสวยงามไพเราะกว่าคนที่ไม่มีฝีมือแต่เลือกใช้อุปกรณ์ราคาแสนแพง

ท้ายที่สุดแล้วหากคนไร้ซึ่งความรับผิดชอบ ไม่ว่าเครื่องมือตัวไหนก็ช่วยไม่ได้อยู่ดีใช่ไหมละครับ

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ