ใครก็เรียกตัวเองว่าโปรแกรมเมอร์ได้?

มันเกลื่อนตลาด หรือมันเป็นง่ายกันขนาดนั้นเลย

ผมเคยเขียนบทความนึงเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานก่อนไปถึง Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐ(บทความเก่า อะไรๆ ก็ 4.0) ซึ่งถ้าใครอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจก็คงจะทราบกันดีว่าข่าวเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง blockchian, AI, Big data เนี่ยมีให้อ่านแทบทุกวัน แล้วก็มีหลายหน้าหลายสกู๊ปที่เขียนถึงด้วย แต่ในวงการไอทีบ้านเราก็มักจะได้ยินอีกปัญหานึงตามมาเนืองๆ อย่างไม่เคยขาดสายเลยคือปัญหาวิกฤตโปรแกรมเมอร์ หรือถ้าจะให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายๆ มันก็คือปัญหาโปรแกรมเมอร์ขาดแคลนไม่พอใช้งานนั่นเองครับ

ใครที่ทำงานในสายไอทีน่าจะคิดเหมือนผมอยู่บ้างว่า จริงๆ แล้วเนี่ยโปรแกรมเมอร์มันก็มีเยอะนะ แต่ประเด็นคือมันเอามาใช้งานเลยไม่ได้เนี่ยแหละ ตรงนี้น่าจะตอบคำถามได้ตรงจุดมากกว่า เมื่อเราลองตั้งคำถามโดยใช้เทคนิค 5-Whys ก็อาจจะย้อนกลับไปถึงต้นตอของปัญหาได้บ้าง

  1. ทำไมโปรแกรมเมอร์ถึงขาดตลาด? (จริงๆ ไม่ได้ขาด แต่ส่วนใหญ่ทำงานเลยไม่ได้)
  2. ทำไมถึงทำงานเลยไม่ได้ (ส่วนใหญ่ต้องนำมาเรียนรู้งาน สอนงานก่อนเป็นอาทิตย์, เป็นเดือน)
  3. ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทักษะความสามารถไม่ถึง? (น้องเค้าเขียนในเรซูเม่ว่าทำได้ครับ)
  4. ทำไมถึงทำไม่ได้ตามเรซูเม่ที่เขียน? (เริ่มสับสนว่าปัญหาคือที่คนรับ หรือปัญหาที่คนเขียนกันแน่)
  5. ทำไมถึงรับเข้ามา?

ความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ใช่ลักษณะเหตุการณ์เช่นนี้หรอกครับ แต่ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบในปัจจุบันเลยคือ ทักษะยังไม่ถึง อาจจะเข้าใจเทคโนโลยีนั้นไม่มากนัก แต่ก็เพิ่มลงในเรซูเม่เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับกลับมา ซึ่งมันก็มีอยู่สองอย่างคือ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นตามทักษะที่เขียนลงไป กับอยากได้งานในองค์กรที่ส่งไปจริงๆ ซึ่งทั้งสองอย่างมีผลเสียกับธุรกิจเป็นอย่างมาก หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องเล็ก แก้ปัญหาด้วยการใช้ข้อสอบเขียนโปรแกรมประกอบการสัมภาษณ์ก็จบ ถ้ามองในมุมธุรกิจ ใช่ครับ มันจบ เราจะทำหน้าที่เหมือนตัวกรองพนักงานที่สอบผ่าน และทำงานได้จริงตามที่เราต้องการเข้ามา

แต่ถ้ามองในภาพรวมเชิงเศรษฐกิจ(เอาเว้ย เริ่มพูดเหมือนเด็ก MBA ขึ้นมาบ้างล่ะ) การที่ใครต่อใครเรียนเขียนอ่านโค้ดนิดหน่อยแล้วบอกว่าตัวเองเป็นโปรแกรมเมอร์ได้นั้นมันสะท้อนภาพบางอย่าง จำนวนโปรแกรมเมอร์ในตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ตลาดแรงงานกลับขาดแคลน ซึ่งมันสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด

programmer

ถ้าปัญหามันอยู่ที่ตัวบุคคล เราจะมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยยืนยัน หรือทำให้ภาคธุรกิจมั่นใจได้ว่านี่คือบุคลากรที่พร้อมจะทำงานในสิ่งที่องค์กรต้องการจริงๆ ไม่ใช่จะไปนั่งเรียนคอร์สออนไลน์อยู่อาทิตย์นึงแล้วก็บอกว่าผมเป็นโปรแกรมเมอร์ พร้อมเขียนโปรแกรมตามที่คุณต้องการได้ คุณผู้อ่านเคยได้ยินคำพูดนี้ไหมครับ

Bad programmers worry about the code. Good programmers worry about data structures and their relationships

คนพูดคือ Linus Torvalds ซึ่งเป็นบิดาผู้ให้กำหนดระบบปฏิบัติการ Linux ซึ่งผมเห็นด้วยมากๆ และก็คิดว่าโปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่ที่ใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนมาหลายปีน่าจะเห็นพ้องต้องกัน อีกอย่างคืออาชีพโปรแกรมเมอร์เราเนี่ยไม่มีสภา หรือองค์กรรองรับเหมือนสภาวิชาชีพบัญชี สภาวิศวกร สภาทนายความ หรือสภาสถาปนิก ที่ก่อนบุคคลที่ประกอบอาชีพนั้นได้จะได้รับการยืนยัน ซึ่งก็เป็นประโยชน์ผลดีทั้งตัวบุคคล และองค์กร

อยู่ดีๆ ผมจะหันไปจับหนังสือบัญชีมาอ่าน ทำความเข้าใจเองแล้วเรียกตัวเองว่าเป็นนักบัญชี หรือผู้ตรวจสอบบัญชีได้ไหม? ก็คงไม่เหมาะ ต้องไปสอบเอาวุฒิเอาใบรับรองมาก่อน ทนายความก็เหมือนกัน ต่อให้อ่านประมวลกฏหมายทุกเล่ม เข้าใจทุกวรรคไปว่าความได้ไหม? ก็ยังไม่ได้ แต่ทำไมเด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ประเดี๋ยวประด๋าวร้อนวิชาบอกตัวเองว่าเป็นโปรแกรมเมอร์ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ได้เสียแล้ว ผมได้มีโอกาสไปช่วยลูกค้าสัมภาษณ์โปรแกรมเมอร์เพื่อจะรับเข้าบริษัท ไม่รู้ว่าเป็นเพราะขนาดของบริษัทมันใหญ่เกินไปหรือเปล่า หรือเป็นเพราะลูกค้าเขียน job description ไม่ชัดเจน จึงเจอผู้มาสัมภาษณ์ที่ยังไม่ค่อยหนักแน่นตามเรซูเม่ที่เขียนเท่าไหร่

แบบเจอตอนแรกมั่นใจมาก พอคุยไปสักพักเริ่มแปลกๆ ให้แบบทดสอบพื้นฐานก็ทำไม่ได้บ้าง เปลี่ยนมาถามเรื่องความเข้าใจปากเปล่าก็ยังไม่รู้ว่าที่ทำอยู่คืออะไรกันแน่ แต่ใช้อยู่ทุกวันนะ

ถ้ากลับมาถามว่าเป็นห่วงอันไหนมากกว่ากันระหว่างองค์กรที่ได้บุคลากรที่ยังไม่พร้อมทำงาน กับตัวบุคคลเองที่ทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่เรียกขึ้นนำมาใช้งานจริงได้ไม่เท่ากับที่มี ผมมองว่าตัวบุคคลน่าจะเป็นห่วงมากกว่า ในอนาคตอันใกล้องค์กรอาจจะใช้ซอฟแวร์ทำงานแทน หรือหันไปลงทุนกับเครื่องจักร, ปัญญาประดิษฐ์ หรือแรงงานต่างชาติ เหมือนตลาดแรงงานทั่วไปที่ตอนนี้เศรษฐกิจดีขึ้นจีดีพีโต แต่อัตราการว่างงานก็สูงขึ้นด้วย

ปัญหาเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่คน มากกว่าเรื่องงาน หรือเรื่องเทคโนโลยี

ถ้ารักในอาชีพ ต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงาน แสดงให้เห็นถึงความรักที่มีต่องานนั้นจริงๆ ไม่ใช่อยากจะทำเพราะมันได้ค่าแรงที่สูง ปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน ประเทศจะได้ก้าวไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมกับ ecosystem ใหม่ๆ ที่ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ