ผลพวงของความคาดหวัง?

ปีนี้ได้อ่านหนังสือทั่วไปหลายเล่มแล้วเหมือนกัน ซึ่งแต่ละเล่มก็จะชอบในบริบทแตกต่างกันไป หนึ่งในหนังสือที่ชอบคือหนังสือที่ชื่อว่า “พฤติกรรม พยากรณ์” อาจจะฟังดูเป็นเหมือนเทพธิดาพยากรณ์อะไรทำนองนั้น ชื่อหนังสืออาจจะฟังดูไม่น่าหยิบมาอ่านเท่าไหร่(สำหรับคนอ่านอย่างผม) แต่พอได้ลองอ่านแล้วรู้สึกว่าสนุก และจริงอย่างน่าสนใจ

หนังสือเล่มนี้แปลมาจากหนังสือที่ชื่อว่า Predictably Irrational ซึ่งเป็นของศาสตราจารย์ Dan Ariely ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม สรุปโดยทั่วไปแล้วมันเหมือนเป็นเรื่องที่วิจัยศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ทำไมมนุษย์จึงทำตัวอย่างนี้ ในสถานการณ์แบบนี้ แล้วเหตุผลจริงๆ น่าจะมาจากอะไร เป็นหนังสือที่อ่านแล้วได้ความรู้ สนุก แล้วก็ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้ดียิ่งขึ้น

แต่มีบทนึงที่ผมค่อนข้างชื่นชอบครับ ชื่อบทว่า “ผลพวงของความคาดหวัง” ว่าด้วยพฤติกรรมที่เรามักจะตั้งความคาดหวังกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยใช้ความคิดเห็นส่วนตัวทึกทักไปว่าน่าจะเป็นแบบตามที่เราคิดเอาไว้ ซึ่งมันเป็นการรับรู้ที่ไม่เป็นกลาง แฝงไปด้วยอคติ และการตัดสินใจที่ไม่ดีของมนุษย์ ผมอ่านแล้วได้สรุปย่อๆ มาเก็บไว้ประมาณนี้

 

ลองจินตนาการว่าคุณกับเพื่อนนั่งเชียร์บอลโลกด้วยกัน โดยแต่ละคนเชียร์คนละฝั่ง ก่อนจบเกมส์ผู้เล่นทีมที่คุณเชียร์เลี้ยงเข้าไปยังกรอบเขตโทษแล้วโดนกระแทกล้มลง ผู้ตัดสินไม่รีรอเป่าชี้เป็นจุดโทษในทันที ซึ่งคุณเองก็เห็นว่ามันสมควรและถูกต้อง กลับกันเพื่อนของคุณไม่พอใจในคำตัดสินโดยหาว่านักเตะทีมของคุณเจตนาพุ่งล้มเพื่อเรียกฟาล์ว

ทำไมความคิดของทั้งสองคนจึงไปคนละทางในเมื่อผลลัพธ์นั้นเกิดขึ้นไปแล้ว

เช่นเดียวในเรื่องการเมือง พรรคการเมืองทั้งสองพรรคมองปัญหาไปคนละแบบ หรือคู่รักที่เวลาทะเลาะกันกลับมีมุมมองของต้นตอปัญหาไปคนละทิศทาง แล้วอะไรคือเหตุผลภายในของแต่ละบุคคลที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นกันล่ะ?

ผู้วิจัยได้ทำการทดสอบภาพจำที่สามารถเปลี่ยนแปลงมุมมอง และเหตุผลของมนุษย์โดยใช้วิธีง่ายๆ ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับหลักการ และเหตุผลอย่างกีฬา หรือการเมือง แต่ทดสอบโดยการใช้การรับรู้รสชาติของเบียร์แทน

ผู้ทดลองทำการทดลองโดยการสุ่มแจกเบียร์ให้กับผู้ที่มาเที่ยวในผับ ทำการแบ่งประเภทเบียร์ออกเป็น 2 ชุด เบียร์ชุดแรกเป็นเบียร์ธรรมดาทั่วไป และเบียร์ชุดที่สองเป็นเบียร์ผสมด้วยน้ำส้มสายชูองุ่นเล็กน้อย จากนั้นทำการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ให้ลองชิมโดยไม่บอกส่วนผสมเลย, กลุ่มที่บอกส่วนผสมก่อนชิม และกลุ่มที่ชิมก่อนค่อยบอกส่วนผสม จุดประสงค์เพื่อทดสอบว่าแต่ละกลุ่มจะชื่นชอบเบียร์ประเภทไหนมากกว่ากัน จากการทดลองได้ผลผลดังนี้

เบียร์ธรรมดาเบียร์ผสมน้ำส้มสายชูองุ่น
กลุ่มที่ไม่ได้รับข้อมูลอะไรเลย
กลุ่มที่รู้ว่าผสมอะไรก่อนดื่ม
กลุ่มที่รู้ว่าผสมอะไรหลังดื่ม

 

เป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลส่วนผสมนั้นจะเลือกเบียร์แบบพิเศษ (ผู้ทดลองให้ข้อมูลแค่ว่าเป็นเบียร์สูตรที่ต่างไปจากเบียร์ธรรมดา ซึ่งเป็นเบียร์ผสมน้ำส้มสายชูองุ่นเหมือนที่ให้ทุกกลุ่ม) หลังจากดื่มเปรียบเทียบกัน ได้ผลลัพธ์เหมือนกับกลุ่มที่รู้ส่วนผสมหลังดื่มไปแล้ว

แต่กลุ่มที่รู้ข้อมูลว่าเบียร์ตัวที่สองผสมอะไรลงไปกลับย่นจมูกหยีหลังจากได้ชิมเบียร์แบบพิเศษ และเลือกเบียร์แบบธรรมดาแทน การรับรู้ของสมองสามารถเปลี่ยนการตัดสินใจของเราได้จากอะไร ทำไมเราจึงคาดหวังต่างออกไปเมื่อได้รับรู้ข้อมูลก่อนที่จะได้ชิม?

ผู้ทดลองยังทำการทดลองกับกาแฟอีกด้วยเช่นเดียวกัน โดยพบว่า หากเปิดร้านกาแฟแล้วมีการจัดภาชนะที่ใส่อย่างเรียบหรูดูมีราคา จะทำกลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่ากาแฟมีรสชาติดีกว่าภาชนะทั่วไป(โดยที่รสชาติ และเมล็ดกาแฟแบบเดียวกัน)

พูดง่ายๆคือ เมื่อบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมดูดีขึ้น กาแฟก็จะมีรสชาติดีขึ้นตามไปด้วย

ผู้ทดลองยังให้ข้อมูลอีกว่า ถ้าใช้แก้วไวน์ หรือแก้วเบียร์ที่ดูหรูหราเข้ากับสิ่งที่ต้องการดื่มจะช่วยดึงรสชาติที่ดีที่สุดออกมาได้ (ถึงแม้ว่าการทอสอบจริงๆ ภาชนะจะไม่มีผลต่อรสชาติก็ตาม แต่ยังไงก็ไม่สามารถหยุดการรับรู้ของคนว่าการใช้ภาชนะที่ดีที่เหมาะสม ไวน์ หรือเบียร์นั้นๆรสชาติจะดีขึ้นมาก)

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมร้านคราฟเบียร์บางร้านจึงใช้แก้วเบียร์ที่มีรูปทรงแปลกๆ เปลี่ยนไปตามขวดที่เราสั่งมาดื่ม หรือร้านอาหารหรูๆ ที่จัดชุดแก้วไวน์ราคาแพง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับทำไมเวลาเราดื่มโค้กจึงรู้สึกว่ารสชาติดีกว่าเป๊ปซี่ แต่ปิดตาทดสอบจึงบอกว่าเป๊ปซี่อร่อยกว่าโค้ก เพราะคนรับรู้ว่าการที่ได้เห็นแบรนด์โค้กฉลากสีแดงมีลวดลายโค้งเว้าสวยงามมีผลต่อการรับรู้ที่ดีกว่า จึงสามารถบอกได้ว่าความคาดหวังของเราสามารถบิดเบือน และมีอิทธิพลส่งผลต่อความเป็นจริงได้

ผู้เขียนปิดท้ายว่า เพื่อเป็นการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง เราควรนำเสนอมุมมองของแต่ละฝ่าย โดยไม่ต้องบอกว่ามาจากฝ่ายใด(ซี่งเหมือนเป็นการปิดตา) จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นความจริงได้มากขึ้น หรือขอความช่วยเหลือจากคนกลางที่ไม่มีอคติ หรือปราศจากความคาดหวังของทั้งสองฝ่าย

อ่านจบบทแล้ว ก็ย้อนกลับมาคิดถึงสิ่งที่เราทำอยู่ในชีวิตประจำวันได้หลายอย่าง ทั้งการเลือกซื้อของ ไปจนถึงการตัดสินใจเล็กน้อย บทนี้มันทำให้รู้ว่าการคาดหวังของคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงคำตอบ หรือสร้างเส้นทางบางอย่างให้อนาคตได้ ลองนึกถึงร้านอาหารที่คุณไม่เคยไป แล้วได้อ่านรีวิวในอินเตอร์เน็ตดูสิครับ หลายคนชื่นชมว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ คุณก็มักจะคิดไปก่อนถึงร้านแล้วด้วยว่า ร้านมันจะต้องเป็นแบบไหนๆ ซึ่งการตั้งความคาดหวังของแต่ละคนก็สูงต่ำไม่เหมือนกัน คนที่ตั้งความคาดหวังไว้สูงเวลาประสบพบเจอจริงได้ไม่เท่ากับที่คิดไว้ ก็อาจจะต้องผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดา คนที่คาดหวังน้อยเจอสิ่งที่ได้มากกว่าที่ตัวเองตั้งความคาดหวัง ก็จะรู้สึกดี

มันสะท้อนมุมมองการรับรู้ของเราได้อย่างดี แล้วเราเองก็ตั้งความคาดหวังแทบกับทุกอย่างในการใช้ชีวิตทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง(ที่อ่านรีวิวในเน็ตมาก่อน) การรู้จักคนใหม่ๆ(จากคำพูดคำแนะนำของเพื่อน) และอีกมากมาย ซึ่งมันก็ต้องพบเจอสิ่งที่เหนือคาด และต่ำกว่าที่คาดเป็นเรื่องธรรมดา

nida-lounge

Satisficing model

Satisficing เป็นหนึ่งในโมเดลการตัดสินใจที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะช่วยเรื่องความคาดหวังได้บ้าง หลักเกณฑ์ของการตัดสินใจโมเดลนี้ไม่ยากครับ คือการตัดสินใจด้วยความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก หรือได้คำตอบในใจอยู่แล้วเมื่อต้องเจอตัวเลือกหลายๆ ตัวเลือก และเมื่อคนเราตั้งมาตรฐาน(standard) ของตัวเองขึ้นมา และได้ตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่ใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานที่เราสร้างขึ้น ก็จะช่วยตอบสนองความคาดหวังของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง

ทุกวันนี้เราคาดหวังอะไรบ้าง? คาดหวังกับสิ่งไหนเป็นสิ่งหลักในชีวิตประจำวัน แล้วเราจัดการกับการรับรู้ หรือตอบสนองความคาดหวังของเราเองได้ยังไง ในกรณีที่สิ่งนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิดไว้ในตอนแรก จริงหรือเปล่าที่ว่า ถ้าคิดว่ามันดี มันก็จะดี หรือถ้าคิดว่ามันจะแย่ อะไรมันก็จะแย่ เราสามารถควบคุมการรับรู้ของตัวเองได้ขนาดนั้นเลยหรือ? น่าสนใจจริงๆ

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ