ทฤษฏีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์

Three Needs Theory

ถ้าการทำงานกับคนเป็นเรื่องยาก ผมคงคิดว่าการบริหารคนเป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะผู้บริหารต้องทำความเข้าใจความต้องการของแต่ละคน ถ้าเรารู้สึกว่างานที่ทำนั้นไม่ดีแต่ได้เงินดี เราจะยังทำอยู่ไหม เราจะไม่คิดอะไร หรือจะออกไปหาอะไรใหม่ๆ ทำให้เกิดความสนุกได้ประสบการณ์ถึงแม้ว่าจำนวนเงินอาจจะน้อยลงกว่าที่เคยได้รับก็ตาม หลายคนอาจจะทำงานเพื่อเงิน แต่ก็ต้องบอกว่ามีบางคนที่ไม่ใช่ แล้วถ้าแบบนั้นเขาทำงานไปเพื่ออะไรกันล่ะ?

ผมเองเคยมีช่วงเวลาแบบที่ว่าครับ ทำงานเหมือนไม่ได้เพิ่มพูนทักษะอะไรเลย งานที่เข้ามาทำในแต่ละวันก็เป็นงานทั่วไป ไม่มีเรื่องท้าทาย เกิดอารมณ์อยากไปเที่ยวพักผ่อนบ่อยๆ ไม่ได้คิดว่าอยากจะตื่นเช้าหาความรู้แล้วมุ่งไปทำงานให้เสร็จลุล่วง ถึงแม้ว่าเงินจะโอเคแต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองโชคดีอะไรที่ได้งานแบบนี้

พอได้ไปเที่ยวมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เริ่มรู้สึกว่าการไปเที่ยวแค่ช่วยยืดเวลาไม่ให้ตัวเองเบื่อออกไปแค่นั้น ไม่ได้คิดว่ากลับมาแล้วจะมีไฟในการทำงานมากกว่าเดิม ท้ายสุดก็ต้องเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เหมือนชีวิตติดลูป สุดท้ายออกจากงานประจำชีวิตการทำงานสนุกขึ้นมาก ถึงแม้จะเหนื่อย และหาเงินได้น้อยกว่าเดิม แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองมีเหตุผลที่จะตื่นทุกเช้า แล้วก็ตั้งเป้าหมายที่จะทำในแต่ละวันก่อนเข้านอน

ตอนที่ผมเรียน ป.โท อยู่ได้รู้จักกับทฤษฎีนึงอยู่ในหมวดแรงจูงใจของการทำงาน แล้วก็พบว่าเหมือนทฤษฎีนี้จะตรงกับสิ่งที่ต้องการค้นหาคำตอบมานาน และผมก็ยังเชื่อด้วยว่าหลายคนน่าจะตรงกับทฤษฎีนี้เลยก็ว่าได้ หลักๆ เป็นเรื่องของการทำงานที่ไม่ได้มุ่งหวังตัวเงิน แต่มุ่งหวังอย่างอื่น 3 อย่าง

david-mcclellands-motivational-needs
รูปภาพจาก pocketbook.co.uk

ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (Three Needs Theory)

ของอาจารย์ David McClelland ค้นพบว่าสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นในการทำงานสำหรับคนที่ไม่ได้มุ่งหวังตัวเงินนั้นสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ ความต้องการความสำเร็จ, ความต้องการความสัมพันธ์ และความต้องการในอำนาจ

ความต้องการ ความสำเร็จ (Need for achievement)

คนประเภทนี้เป็นคนที่ชอบแก้ไขปัญหา ต้องการหาทางออก พยายามทำทุกอย่างให้ดีขึ้น เป็นประเภทที่ทำอะไรไปแล้วก็ต้องการข้อมูลป้อนกลับ หรือ feedback เพื่อนำไปพัฒนาแก้ไข และต่อยอด ชอบความท้ายชอบความเสี่ยง มีการคิดอย่างเป็นระบบวางแผนแบบชำนาญ และประมวลความเสี่ยงที่เกิดขึ้น หัวก้าวหน้า และส่วนใหญ่มักชอบทำงานคนเดียว

ที่ชอบทำงานคนเดียว อันนี้น่าจะเป็นเพราะการทำงานกับคนหลายๆ คนอาจจะทำให้งานที่ได้นั้นไม่สมบูรณ์แบบตามที่ตัวเองมุ่งหวัง อาจจะทำให้เกิดปัญหา หรือไม่เป็นไปตามแบบแผน ฉะนั้นการทำงานคนเดียวน่าจะเป็นวิธีที่ช่วยลดความผิดพลาดแล้วเข้าไปสู่เป้าหมายได้มากกว่า

ความต้องการ ความผูกพันธ์ (Need for affiliation)

กลุ่มนี้ทำงานเพื่อสร้างความผูกพันธ์กับเพื่อนฝูงรอบข้าง มีคนนิยมชมชอบในผลงานที่สร้างขึ้น มักผูกมิตรกับกลุ่มคน ให้ความสำคัญกับผู้คนอาจจะมากกว่ากระบวนการ แน่นอนกว่าคนกลุ่มนี้ต้องชอบทำงานกลุ่ม ตรงข้ามกับแบบที่ต้องการความสำเร็จ แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ชอบความเสี่ยง ไม่ชอบความไม่แน่นอน

ความต้องการ การมีอำนาจ (Need for power)

ชอบการแข่งขันเป็นชีวิตจิตใจ ชอบควบคุมการทำงาน หรือบางครั้งอาจจะมาในรูปแบบของการแนะนำ เน้นการทำงานแบบมีวินัย เชื่อว่าถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายหนึ่งก็ต้องแพ้ไปเลย ต้องการได้เปรียบเวลาแสดงความคิดเห็น ต้องการที่จะเป็นผู้นำ ได้รับการยกย่องจากคนรอบข้าง แต่บ่อยครั้งอาจจะกังวลเรื่องอำนาจมากกว่าทำงานให้มีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่าผู้บริหารต้องเข้าใจว่าพนักงานแต่ละคนในทีมมีลักษณะเป็นอย่างไร บางคนอาจจะชอบทำงานคนเดียว บางคนก็ชอบทำงานเป็นทีม การจัดแบ่งงานให้เหมาะสมกับความการส่วนตัวแต่ละคนก็ย่อมเป็นเรื่องสำคัญ กลับกันในมุมของคนทำงาน ถ้าเราเข้าใจว่าตัวเองทำงานไปเพื่อต้องการอะไร ก็น่าจะช่วยให้การทำงานทุกวันมีความหมายมากขึ้น

bangkok-city

มันไม่ผิดที่จะชอบทำงานคนเดียว หรือต้องหาคนอื่นตลอดเพื่อรวมกลุ่มทำงาน เพราะท้ายที่สุดผมมองว่าแรงกระตุ้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถหาเหตุผลที่จะลงมือทำงานชิ้นนั้นๆ แต่แรงผลักดันย่อมต้องเกิดจากความรัก และความเชื่อในสิ่งที่ทำก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อเรามองอะไรในแง่ดี ต่อให้อะไรเข้ามาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คิดว่าจะทำได้ มันก็เกิดขึ้นได้

ผมชอบประโยคนึงของอาจารย์ที่สอนมากเลยว่า “ทฤษฎีจะทำให้ประสบการณ์ชัดเจนขึ้น” เพราะมีบ่อยครั้งที่เราเจอมันแทบทุกวันในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราเองก็ได้แต่ตั้งคำถามไปบ้างว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น จนได้มาเรียนรู้ทฤษฎีหลายๆ เรื่องก็เริ่มเข้าใจพฤติกรรมของบุคคลมากขึ้น ซึ่งมันส่งผลต่อการทำงานได้เป็นอย่างดี

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ