เราควรเสียภาษี และนี่คือเหตุผลว่าทำไม

The first wealth is health — Ralph Waldo Emerson

สมัยมหาลัย หรือช่วงที่ได้ทำงานประจำใหม่ๆ ผมมักจะมองเรื่องเสียภาษีเป็นด้านลบอยู่เสมอ ก็แน่ล่ะ เราทำงานของเรามาอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้ได้เงินท้ายเดือนเพื่อใช้ชีวิตได้ในเดือนถัดไป ความเหนื่อยนั้นเราก็เป็นคนแบกมันด้วยตัวเอง แล้วทำไมจะต้องมาเสียเงินจำนวนหนึ่งที่เราได้มานั้นกลับไปให้กับรัฐด้วย? มันดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ตรงไปตรงมามากๆ คำถามนึงเลยในชีวิตของผม

ถึงแม้ว่าจะเกิดคำถามบ่อยแค่ไหน หรือจะพูดบ่นไปมากเท่าไหร่ ผมก็ได้เสียภาษีประจำปีอย่างถูกต้องทุกครั้ง จนแทบจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยเหมือนกับคนทำงานรับเงินเดือนทั่วไปเขาคิดกันแล้ว

แต่ในความเป็นจริงเมื่อเราโตขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้เรื่องของเศรษฐกิจ เปิดรับหลายๆ มุมมอง และดูเหมือนจะเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มุมมองต่อการเสียภาษีนั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จนตอนนี้ก็เก็บมานั่งคิดว่าจริงๆ แล้วการเสียภาษีมันเป็นเรื่องที่ไม่อยากจะทำ ไม่อยากจะให้เกิดขึ้น หรือไม่อยากจะอะไรขนาดนั้นเลยหรือ ทำไมจึงมีความคิดว่าต้องหาวิธีลดหย่อน หรือลดมันทุกอย่างเท่าที่เป็นไปได้อยู่ตลอด

ais-dc

ความเกลียด หรือความไม่ชอบนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงสองอย่างครับ หนึ่งคือเกลียดที่ต้องเข้าใจ และอีกหนึ่งคือเกลียดที่ไม่เข้าใจ แต่โดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่คนเราก็มักจะเกลียด หรือไม่ชอบอะไรเพราะไม่เข้าใจมากกว่า

งั้นถ้าเราต้องเสียภาษี เราก็คงจะต้องนึกย้อนกันไปหน่อยว่าเมื่อเสียภาษีให้รัฐเนี่ย เราเสียไปทำไม รัฐเอาเงินที่เรียกว่าภาษีของเราไปทำอะไรบ้าง ถ้าเทียบในมุมของการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือ product design แล้ว — แน่นอนว่า เราต้องมองหลายมุม และมุมนึงที่ต้องนึกถึงเป็นอย่างแรกคือมุมของลูกค้า แต่ในที่นี้ต่างออกไปนิดหน่อย การมองหลายมุม หาเหตุผลเพื่อให้ความคิดตัวเองนั้นผิด เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะเปิดใจยอมรับความเห็นต่างได้มากขึ้น

ภาษีมาจากไหน

ช่วงหลังๆ มานี่ เราสามารถเข้าไปหาข้อมูลเรื่องของภาษีได้ที่เว็บไซต์ https://govspending.data.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการจัดสรรภาษีของรัฐ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์อยู่หลายอย่าง แล้วก็มีหลายอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งผมจะไม่เขียนกล่าวตรงนี้ เอาเป็นว่าใครที่ต้องการดูข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมก็เข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐนั่นเองแล้วกันครับ ในบทความนี้ผมจะเขียนโดยยึดข้อมูลในเว็บไซต์นี้เป็นหลักเพื่อใช้สนับสนุนสิ่งที่เขียน เนื่องจากเป็นข้อมูลเดียวกันที่เราสามารถเข้าไปค้นหา และเปรียบเทียบได้

การจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ

เรามักจะได้ยินอยู่บ้าง อาจจะในวัยเด็ก หนังสือทั่วไป หรือข่าวว่ารัฐมีรายได้จากการเก็บภาษี โดยนำภาษีไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าไม่ได้คิดอะไรเพิ่มเติม ที่เราได้ยินมามันก็จะอยู่อย่างนั้น โดยไม่ได้สนใจว่าเก็บภาษีไปทำไม แล้วนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างไร

จากในแผนภูมินี้เราจะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บภาษีให้รัฐนั้นหลักๆ คือกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร โดยแบ่งออกเป็นประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเม็ดเงินที่เก็บได้มากที่สุด รองลงมาเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามลำดับ โดยการเสียภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลนั้นก็ใช้แบบขั้นบันไดที่ใครมีรายได้เยอะก็จ่ายเยอะ ใครมีรายได้น้อยก็จ่ายน้อย และไม่ถึงเกณฑ์ หรือได้รับการยกเว้นก็ไม่ต้องเสีย อันนี้สมเหตุสมผลครับ

แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นเป็นสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามากับตัวสินค้า และบริการ ซึ่งไม่ว่าเราจะมีรายได้มาก หรือน้อย เราก็จำเป็นที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตรงนี้อยู่ดี โดยปรกติแล้วเราก็เสียกันเป็นประจำอยู่แล้วนั่นแหละครับกับการซื้อของกินของใช้ทั่วไป เพียงแต่ว่าเราไม่ค่อยรู้สึกตัวเพราะมันถูกรวมอยู่กับราคาของสินค้าไปเลย

ยกตัวอย่างเช่น คนจนกับคนรวยเดินเข้าเซเว่นไปซื้อน้ำอัดลมขวดหนึ่งเหมือนกัน ทั้งคู่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในราคาเดียวกัน ซึ่งอันนี้อาจจะมองว่ามันเป็นภาษีที่ไม่ค่อยเท่าเทียมก็ได้ในอีกมุมหนึ่ง เพราะแทนที่ว่าคนจนควรเสียน้อยเพราะมีรายได้น้อย คนรวยก็ควรเสียในอัตราที่สูงขึ้นหน่อยเพราะมีรายได้มากกว่า แต่มันคงแปลกๆ และมีวิธีการยุ่งยากพอสมควรที่คนสองคนซื้อของในที่เดียวกัน ซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ด้วยราคาที่แตกต่างกัน แล้วคงยุ่งยากมากถ้าน้ำขวดเดียวต้องมีวิธีการยืนยันรายได้ใช่ไหมละครับ

แต่สิ่งที่ทำให้ผมอยากรู้มากกว่านั้นคือ การที่ได้ยินมาว่าทุกวันนี้คนที่เสียภาษี หรือจ่ายภาษีเข้าระบบนั้นมีเพียงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ก็ค่อนข้างสอดคล้องกับหลักการของพาเรโต (80/20) หรือกล่าวแบบไม่ให้ซับซ้อนเลยคือ การพัฒนาประเทศกว่า 80% นั้นมาจากเงินภาษีของคนจำนวน 20% ที่ส่งรายได้เข้ารัฐในรูปแบบภาษี

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาครัฐด้านการศึกษา การมอบทุนให้โอกาสเด็กได้เรียนต่อ เงินเดือนวิชาชีพราชการครู หรือด้านสาธารณสุขอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรคใต้ สปสช. หรือแม้แต่การคมนาคม การสร้างถนนหนทาง รวมไปถึงการลงทุนทำรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ทุกอย่างล้วนมาจากภาษีเราทั้งสิ้น..ใช่ครับ เราที่ว่าคือเราจำนวน 20% ที่ on payroll เนี่ยแหละ

ซึ่งการเสียภาษีของเรานี้เองที่ช่วยสร้างถนน ความสะดวกในการเดินทางให้กับคนที่ไม่ได้เสียภาษีด้วย รวมไปถึงการใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรคที่เราเสียภาษีให้ภาครัฐนำเงินมา subsidize ให้โครงการนี้สามารถไปต่อได้ หรือข้าราชการครูในพื้นที่ห่างไกลในหลายๆ จังหวัด ถ้าให้มองอีกมุมหนึ่งดังที่กล่าวมา ผมก็รู้สึกว่าการจ่ายภาษีนี่ดูเป็นเรื่องที่ดีเหมือนกันนะ ถ้าระบบภาษี หรือการเบิกจ่ายกับสิ่งที่เหมาะสมตามอุดมคติ ก็จะช่วยให้หลายๆ อย่างภายในประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจดีขึ้นด้วย

แต่สิ่งที่เรามักจะได้ยินมานั้นชอบขัดกันอยู่เรื่อยเลยใช่ไหมครับ เรามักจะได้ยินข่าวข้าราชการ อย่างนักการเมืองที่ทำการทุจริตอย่างนั้นอย่างนี้ เอาภาษีของประชาชนไปใช้อย่างผิดวิธี บ้างก็ใช้เพื่อการส่วนตัว ทำให้เราเกิดความสบสน บางทีก็รู้สึกต่อต้าน และไม่อยากจะเสียภาษีเข้ารัฐอีกต่อไปแล้ว (ก็ในเมื่อเอาเงินที่เราเสียไป ไปใช้ในแบบที่ผิด ใครมันจะไปอยากให้) ซึ่งก็ใช่ มีบางครั้งที่ผมเองก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน

แล้วจริงๆ ภาษีควรไปใช้ในด้านไหนบ้าง

จากเว็บไซต์ข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ เราจะเห็นว่าการเบิกจ่ายที่เกิดขึ้นนั้นไปอยู่กับ 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ การบริหารงานทั่วไปของรัฐ, การศึกษา, เศรษฐกิจ, สังคมสงเคราะ และสาธารณสุข ซึ่งถ้าเข้าไปหาข้อมูลหลายๆ อย่างจะเห็นว่าเงินภาษีที่ถูกตั้งเบิกจ่ายนำไปใช้นั้น ก็สมเหตุสมผลอยู่ในระดับหนึ่งเลยนะ อย่างที่เรารู้กันในวงกว้างก็คือให้ทุนการศึกษา(กยศ), การพยุงตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือภาคการขนส่ง เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น แล้วจะทำให้ของแพงขึ้น เงินเฟ้อ ฯลฯ รวมไปถึงพวกสวัสดิการผู้สูงอายุ (ซึ่งจะมากขึ้นในปีถัดๆ ไปเพราะเข้าสู่ aging society) การลงทุนเพื่อเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพื่อสร้างงาน(อย่าง EEC) และงานสาธารณสุขอย่างในโรงบาลรัฐ เป็นต้น

แบ่งจำแนกงบเบิกจ่าย

กลับกลายเป็นว่าเมื่อผมเองได้รับรู้ข้อมูลพวกนี้ มันก็ทำให้รู้สึกดี และมองแง่บวกที่จะเสียภาษี เพราะอย่างน้อยก็รู้ว่าเงินที่เราเอาไปให้รัฐเนี่ยไม่ใช่เงินที่เสียไปสูญเปล่า หรือไปให้กับใคร หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่มันใช้เพื่อไปพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นเพื่อวันข้างหน้าจริงๆ หรือถ้าเรายังไม่แน่ใจว่าเงินภาษีที่เราเสียไปในแต่ละปีจะไปตกอยู่ในหมวดไหนบ้าง

ใครได้รับเม็ดเงินจากสิ่งที่เราจ่ายให้รัฐบ้างก็เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ https://govspending.data.go.th/dashboard/6 เพื่อกรอกรายได้ และค่าลดหย่อนที่ของเรา ในเว็บไซต์ก็จำคำนวนออกมาให้ว่าเงินต่างๆ ถูกกระจายไปยังหน่วยงานใดบ้าง คิดเป็นประมาณเท่าไหร่ ซึ่งก็อย่างที่ว่าครับ มันอาจจะเป็นจริง หรือไม่เป็นจริงตามที่ระบุไว้นี่ก็ได้ จากที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือข่าวตามโทรทัศน์ ซึ่งก็ไม่แปลกที่เราจะไม่ไว้ใจอะไรง่ายๆ

การเสียภาษีของฉัน

ผมชอบคนที่ไม่ไว้ใจอะไรง่ายๆ เพราะว่าคนพวกนี้จะชอบตั้งคำถาม และกล้าท้าทายสิ่งที่ไม่รู้จัก — หนังสือจุดอ่อนของมนุษย์ จาก เดล คาร์เนกี

สมมติว่าเราตรวจสอบเรื่องพวกนั้นไม่ได้ว่าจริง หรือไม่จริง ซึ่งอาจจะเป็นจริงก็ได้ หรือไม่เป็นจริงก็ได้ แต่สิ่งที่ทำให้ผมต้องมานั่งคิดมากกว่าเรื่องนั้นคือเรื่องของกลุ่มที่ไม่ได้เสียภาษี แต่มีรายได้ แล้วก็ตั้งใจที่จะไม่เสียภาษี (ก็แน่ล่ะมันเป็นสิทธิ์ของเขาป่าววะ) ยกตัวอย่างนะครับ ผมเขียนระบบให้เพื่อนคนนึงใช้ เพื่อนคนนี้ของผมเปิดร้านขายเสื้อผ้าที่ขายดีมาก ขายทางออนไลน์เดือนนึงไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท และเขาเองก็ไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย เพราะขายกับคนต่อคน ไม่มีหลักฐานมาอิงให้ตรวจสอบเพื่อที่จะเอาเข้าระบบไปเสียภาษี ปีนึงน่าจะมีรายได้หลายล้าน ไม่เคยต้องเสียภาษี แล้วก็บ่นว่าทางไม่ดีอย่างนั้น  โรงบาลรัฐคนเยอะอย่างนี้ ไม่ดูต่างประเทศ ฯลฯ

ก็เลยย้อนกลับมาดูตัวเองว่า ทำงานกินเงินเดือนบริษัท จ่ายภาษีเงินได้ทั้งส่วนตัว และนิติบุคคลไม่เคยขาด ไหนยังจะต้องไปสรรพากรอยู่บ่อยๆ (บทความ ไปสรรพากรบ่อยไปมั้ย?) แล้วก็นึกไปถึงเพื่อนๆ พี่น้องที่เสียภาษีเหมือนกัน เหมือนกับมีความคิดผ่านเข้ามาในสมองพักนึงว่า เรากำลังใช้ถนนเดียวกับคนที่ไม่ได้เสียภาษี แต่เราเสียภาษี ญาติผู้ใหญ่เรากำลังรอรับบริการจากโรงบาลรัฐ ที่เราเสียภาษี พร้อมกับคนที่ไม่ได้เสียภาษี และคิดไปถึงกรณีของการซื้อน้ำอัดลมในเซเว่นเหมือนตอนที่เขียนตอนต้นบทความ จริงๆ เราก็อยากให้ทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีเหมือนกันนะ

ถ้ามองภาพรวมของเศรษฐกิจโดยที่ข้ามเรื่องของตัวบุคคล หรือกลุ่มคนไป เศรษฐกิจพื้นฐานน่าจะดีขึ้น ประเทศน่าจะมีเงินหมุนนำไปใช้นั่นใช้นี่เกิดการแข่งขันตามประเทศอื่นได้ทัน หรือมีกำลังเจรจาต่อรองมากขึ้น แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นมันไม่ส่งผลดีกับเราที่ปลายน้ำตรงไหน? ดูจากประเทศที่มีการเก็บภาษีเงินได้แพงอย่าง สวีเดน(60%), แคนาดา, ญี่ปุ่น หรือเดนมาร์คพวกนี้ สวัสดิการดีมาก บางประเทศรัฐช่วยเหลือให้สบายไปจนเสียชีวิต ถนนหนทางดี การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปได้เร็ว การแข่งขันในตลาดโลกดี

ส่วนตัวผมยังเชื่อนะ ว่าการเสียภาษีเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่เราควรทำ เหมือนกับการตื่นเช้าต้องมาเข้างานตามเวลา หรือรับผิดชอบงานให้เสร็จก่อนกำหนด และคิดว่าส่วนหนึ่งที่รัฐเก็บภาษีสินค้าบางประเภทมากขึ้น เพราะต้องการเงินเข้ารัฐมาหมุนใช้ในเรื่องของเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งนั่นส่งผลกระทบต่อคนส่วนมาก แต่กลับกันถ้าหลายคนเข้าระบบเสียภาษีอย่างถูกต้องมาขึ้น ราคาสินค้าบางประเภทอาจจะไม่ต้องดันขึ้นไปสูงขึ้นก็เป็นได้

แต่ก็ใช่ว่าจะเห็นด้วยไปเสียทุกเรื่องเหมือนกันครับ

งบประมาณภาษีที่ใช้

มีบางส่วนที่เข้าไปดูในเว็บไซต์แล้วก็เกิดคำถามมาแบบงงๆ ไม่รู้ว่าเว็บไซต์เก็บข้อมูลผิดพลาด หรือตัวเองไม่ได้ติดตามสถานการณ์บางอย่างก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน อย่างเช่นงบประมาณภายในกระทรวงสาธารณสุขดังรูปภาพข้างต้นแหละครับ

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ