บริษัท และบรรดาเอกสาร

เพราะเป็นฟรีแลนซ์จึงเจ็บปวด

แต่การที่ฟรีแลนซ์ตัดสินใจตั้งบริษัทเองเนี่ยเจ็บปวดยิ่งกว่า ผมเองเริ่มทำงานรับจ็อบฟรีแลนซ์ตั้งแต่แรกเลยก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 3 เห็นจะได้ครับ แล้วก็รับเป็น side-project เรื่อยมาตั้งแต่เรียนจนถึงทำงาน ช่วงที่ทำงานประจำก็พยายามหาโปรเจคที่ไม่ใหญ่มาก พอมีเวลาเหลือจากงานประจำก็พอใช้เวลาสักชั่วโมงสองชั่วโมงทำในแต่ละวันเพื่อไม่ให้ตัวเองเหนื่อยเกินไป ตอนนั้นก็ตามประสาเด็ก เหนื่อยมั้ยก็เหนื่อยบ้างแต่มันร้อนวิชาอยากทำงาน อยากรับงานมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะรับตาม agency หรือต่อมาจากพี่ที่ทำงานที่เดียวกันอีกทีนึง เลยไม่ได้กังวลหรือสนใจในเรื่องเอกสาร ภาษี หรือหัก ณ ที่จ่ายอะไรเลย

JindaTheme

จนทำได้สักพักช่วงที่เราสะสมผลงานไว้มากพอที่จะรับในชื่อตัวเองได้ ก็ได้มีโอกาสรับงานจากคนทั่วไป ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ทำหรือสนใจในเรื่องเอกสาร หรือสัญญาอีก บางครั้งเราก็เคยสงสัยใน scope งานที่เราทำว่ามันจบที่ตรงไหน แก้ถึงไหน ปรับได้อะไรบ้าง ได้แต่บอกปากเปล่าว่าต้องจ่ายเงินเท่านี้นะ แบ่งแบบนี้ พี่ต้องเตรียมอันนี้มาให้ผม ซึ่งทั้งหมดมันก็เหมือนลมที่พูดระหว่างคนสองคน ไม่มีลายลักษณ์อักษรอะไร จนหลายงานมันได้สอนให้เรารู้ว่า ทำแบบวิธีเดิมเนี่ยมันไม่เวิร์คแล้ว เลยย้ายขึ้นมาทำเอกสารสัญญาแบบย่อๆ ว่าแบ่งจ่ายยังไง ระยะเวลาเท่าไหน ทำอะไรบ้าง แค่นั้นเป็นเอกสารแผ่นเดียว

ช่วงเวลา 3 ปีที่ออกมาจากรั้วมหาลัย

DBD

ตอนที่ได้ทำงานที่แรก ผมจำได้ว่าตัวเองยังเขียน jQuery แทบจะไม่เป็นด้วยซ้ำ กังวลว่าเราจะทำตามงานที่ได้รับมอบหมายไม่ได้ แต่ก็ใช้เวลาลองผิดลองถูก ทำนั่นทำนี่ให้ประสบการณ์มันค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นมาในแบบของมัน วันนึงเรามีความมั่นใจมากพอก็พร้อมที่จะกล้าตีราคา รับงานในชื่อตัวเอง แล้วก็สร้างชื่อเสียงของตัวเองนับจากนั้น

ผมใช้เวลาไปอยู่กับ startup ร่วมปีครึ่ง หยุดรับงานนอก focus แต่งานสร้าง product ของตัวเอง ใช้เวลากับมันมากอย่างที่เราเองไม่เคยได้ให้กับโปรเจคไหนมาก่อน ทั้งๆ ที่มันไม่เคยทำเงินให้เลย แต่ก็กลับรู้สึกว่าเราได้อะไรมามากมายทั้งเรื่องของการบริหารจัดการเวลา นิสัยใจคอของคน กับความรู้ที่ไม่คิดว่าจะได้จากการรับงานข้างนอกทั่วไป ผมเลยสรุปย่อหน้าตรงนี้ได้ว่า ยิ่งเราเพิ่มชั่วโมงบิน ชั่วโมงทำงานให้ตัวเองมากเท่าไหร่ ไม่ว่ามันจะเป็นการแก้ไขข้อบกพร่อง หรือจุดผิดพลาด มันก็คือประสบการณ์นึงที่เราได้จำไว้ว่าผ่านมาแล้ว และต้องแก้ไขยังไง.. วันข้างหน้าจะได้ไม่เสียเวลากับมันอีก

การปฏิเสธ และความผิดหวังเป็นค่า default

TAX

ผมออกจากงานประจำแบบไม่ได้สวย หรือด้วยดีเท่าไหร่หรอกครับ แค่รู้สึกไปเองว่าเราน่าจะมี moment ที่ดีกว่านี้ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งที่เรายึดมั่นเชื่อถือว่าถูกว่าดีจะค่อยๆ บอกเราเองว่าเราจะโตขึ้นมากแค่ไหน ครั้งหนึ่ง, ผมออกจากงานประจำแล้วก็ตั้งใจว่าจะเรียนต่อโท ก็ได้ส่งใบสมัคร, ไป open house, สอบข้อเขียน จนไปถึงสอบสัมภาษณ์ สิ่งที่ทำให้ผมจำมาถึงทุกวันนี้คือประโยคหนึ่งประโยคของอาจารย์สักคนในวันนั้น

“หนูยังเด็กมากเลย แล้วก็เป็นฟรีแลนซ์อีก”

มันทำให้ผมตันจนคิดอะไรไม่ออกว่าจะพูดแก้ไข หรือปรับปรุงตัวเองยังไง นอกจากต้องทำใจ ไม่ว่าวันนั้นผมจะได้ยินคำพูดมากมายแค่ไหนที่ได้สัมภาษณ์ สิ่งที่ผมยังจดจำมาถึงทุกวันนี้คือคำว่า “เด็กเกินไป” โอเคไม่เป็นไร ตัดเรื่องเรียนต่อออกไปแล้วกลับไปตั้งใจทำงานสักปีสองปีค่อยสมัครก็คงยังไม่สายเกินไปกระมัง

เอาเข้าจริงแล้ว ผมส่งใบสมัครไปหลายทีครับ คิดเป็น 80% ที่อยากจะเข้าไปคุยเพื่อทำความรู้จัก แต่ไม่ได้อยากจะทำงานที่นั่นจริงๆ และก็มีอีก 20% ที่ส่งไปเพราะอยากทำงานด้วยจริงๆ อาจจะด้วยเหตุผลทางสถานที่ บรรยากาศ ผู้คน และสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่ ที่ที่เราส่งใบสมัครอยากจะทำงานนั้นเป็นที่ใกล้บ้าน หรือบางที่เป็นบริษัทแบบ casual คือเข้างานบ่ายออกดึก แต่อย่างว่าครับ อะไรที่เราอยากได้มักไม่ได้ อะไรที่ไม่อยากได้มักจะได้

ฟรีแลนซ์ที่เป็นเด็ก

แน่นอนว่าถ้าไปคุยงานกับลูกค้าที่อายุมากกว่า ความเป็นเด็กมักจะโดนสบประมาททั้งเรื่องของการจัดการ รวมไปถึงข้อสงสัยมากมายในเรื่องของทักษะอาชีพด้วย “มันจะทำได้ไหม” “แต่งตัวแบบนี้ หน้าตาแบบนี้จะมาทำเว็บบริษัทเราจริงๆ หรอ”  หรือ “จะฝากงานไว้กับเด็กนี่มันจะไปรอดหรอวะ” ใช่ครับ คำถามพวกนี้มันเกิดขึ้นได้เสมอในสายตาของลูกค้า ผมเองก็ไม่เข้าใจว่า ทุกวันนี้เราตัดสินใจเลือก outsource จากอะไร ช่วงอายุ หรือ ทักษะด้านอาชีพกันแน่?

เราอยู่ในโลกที่ผู้คนไม่สนว่าใครจะพูดอะไร สนใจเพียงแต่ใครเป็นคนพูด

ซึ่งถ้าให้ย้อนกลับมาคิดแล้วคิดอีก ก็อาจจะเป็นเพราะวิธีการพูด หรือวิธีการแต่งตัวของเราที่ดูไม่ผู้ใหญ่พอก็เป็นได้.. งั้นเปลี่ยนครับ หลักจากนั้นผมก็ไม่เคยวิ่งออกไปหาลูกค้าอีกเลย ทำให้งานทุกวันนี้ที่รับมาเป็นงานที่ลูกค้าเข้ามาหาเราก่อน หรือบอกกันแบบปากต่อปาก ซึ่งวิธีนี้ง่ายกว่าการที่เรา(เป็นเด็ก) แล้วออกไปหาลูกค้ามาก

ถ้างานประจำมี งานนอกก็มี งั้นต้องหาตัวช่วย

ผมเองเป็นคนที่ยอมซื้อทุกอย่างที่ช่วยลดเวลาการทำงานจะพูดอย่างนั้นก็ได้ครับ เครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่ช่วยอำนวยความสะดวก หรือจัดการทั้งเวลา และงานให้ ถ้าคิดว่ายังไงมีดีกว่าไม่มี ผมคงไม่ลังเลเท่าไหร่ที่จะซื้อมันมาใช้ แต่เชื่อไหมครับ เครื่องมือที่ผมใช้บ่อยที่สุด แล้วก็มีประสิทธิภาพมากที่สุดเลยในการบริหารเวลา คือ Todo list กับ Post-it

Todo list ที่ใช้ประจำมาจนถึงทุกวันนี้คือ Wunderlist นอกจากจะฟรีแล้วยัง sync ข้อมูลทั้งมือถือ และเครื่องคอมแล้ว ยังเพิ่มประเภทของ list และ invite คนอื่นที่เกี่ยวข้องกับโปรเจคนั้นเข้ามา assign งานให้ได้ด้วย มันอาจจะดูเหมือนเครื่องมือเล็กๆ ที่ทำงานอะไรได้แค่ไม่กี่อย่าง(เพิ่ม task, ลบ task และ complete task) แต่เอาเข้าจริงถ้าเราสร้าง task ที่จะต้องทำในวันพรุ่งนี้ไว้ก่อนนอนคืนนี้

มันเหมือนกับว่าทุกครั้งที่เปิดโปรแกรมขึ้นมาดู มันเหมือนมีอะไรค้างคายังต้องทำให้เสร็จให้จบในวันนั้นอยู่ดี อาจจะเป็นเพราะผมค่อนข้างโรคจิตเล็กๆ ที่ไม่อยากทิ้งอะไรไว้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนข้อความที่ยังไม่ได้อ่านใน line, เมล์ที่ค้างยังไม่ได้อ่าน พวกเนี้ยจะให้เหลือแสดงเลข หรือแจ้งเตือนไม่ได้เลย มันกระวนกระวายอยากจะให้หายไปยังไงยั่งงั้น

ฉะนั้นง่ายๆ ครับยิ่งงานเยอะ ยิ่งต้องทุ่มเท ตรงเวลา และใช้ตัวช่วย

วันที่ตั้งบริษัท

cover-Jindatheme

ผมจดทะเบียนบริษัทช่วงเดือนสิงหาคมปี 58 แต่เริ่มมาจริงจัง ทำโน่นทำนี่ก็ช่วงต้นปี 59 ซึ่งบอกได้เลยว่าการเป็นฟรีแลนซ์รับงานในชื่อตัวเองนั้นสบาย และสะดวกกว่าออกในรูปของนิติบุคคลมาก ทั้งเรื่องของเอกสาร สัญญา ภาษี แล้วก็พวกจิปาถะมากมาย แต่ผมคิดว่าวันนึงที่เราจริงจังมากพอ อยากรับงานใน scope ที่ใหญ่ขึ้น รับงานในรูปแบบของนิติบุคคลกับนิติบุคคลมันดูเป็นทางการ มีความน่าเชื่อถือ แล้วก็บังคับตัวเองให้ทำอะไรตามกฏระเบียบ ทั้งที่ไม่ได้อยากทำ

ยิ่งช่วงเดือน 5 ที่ผ่านมาที่ต้องทำบัญชี เอกสารส่งงบประจำปี ยื่น ภ.ง.ด ฯลฯ ถึงมันจะเหนื่อยมาก แต่มันก็ยิ่งทำให้เราผูกพันธ์มากขึ้น มันทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเราต้องสู้ต้องทำเพื่อของเราจริงๆ อะไรที่เราไม่เคยมีไม่เคยทำช่วงที่เป็นฟรีแลนซ์ ทั้งเอกสารสัญญาที่ครอบคลุมทุกอย่างเกือบ 10 แผ่นต่องาน ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จ บันทึกรายรับรายจ่าย การสั่งซื้อ ทำอะไรให้เป็นลายลักษณ์อักษรทุกอย่าง

ก็ไม่เคยคิดว่าจะถึงวันที่ต้องไปซื้อแฟ้มมาเก็บเอกสารของบริษัทตัวเอง อย่างวันนี้

เรารู้จักคนมากขึ้น เจอคนมากขึ้น เรียนรู้ด้านสังคม การวางตัว เรียนรู้ที่จะสร้าง branding ทุกอย่างที่เราทำล้วนมีเหตุผล มีความหมาย มีจุดประสงค์ เราอาจจะโตขึ้นมาวันละนิด เวลาที่ใช้ก็ต้องถนุถนอมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันที่เรารู้ว่า ถ้าเรารัก brand เรามาก timeline เราจะไม่เคยเบี้ยวเลย เราทำทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ มุ่งทิศเหนือ ไม่ใช่ดาวเหนือ การมีบริษัทมันสอนผมอย่างนึง

ถ้าเราอยากให้คนอื่นรักใน product ที่เราสร้าง, รักที่จะใช้ของเรา นั่นคือเราต้องรักที่ในงานที่ทำก่อน

วันนึงเราอาจจะเหนื่อยมาก ท้อมาก กับอะไรๆ ที่ไม่เป็นอย่างหวังที่เราตั้งใจไว้ แต่เชื่อเถอะครับ ทำสิ่งที่ไม่อยากทำตอนนี้ ดีกว่าไปทำสิ่งที่ไม่อยากทำตอนแก่ คนเราก็เหมือนรถ มีค่าสึกหรอเหมือนกันทุกคน แล้วก็เพิ่มขึ้นทุกวัน.

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ