ช่วงชีวิตที่เป็นภิกษุ

วัดอุดมวารี

บวชวัดอุดมวารี

จะบอกว่าเลือกบวชก็ไม่ใช่ครับ เพราะผมเองก็ตั้งใจไว้อยู่แล้วว่าจะบวช ใครแนะนำที่ไหนก็บวชที่นั่น ครั้นผมบอกแม่ผมว่าอยากตั้งใจจะบวช เค้าก็ได้ชื่อวัดมาวัดนึงจากเพื่อน ซึ่งวัดเองก็เป็นวัดป่าอยู่ที่เชียงราย ผมก็ไม่ได้อะไรเลยได้โอกาสขึ้นไปคุยกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสที่วัดอุดมวารีจังหวัดเชียงรายช่วงต้นเดือนกุมภา ตอนที่เห็นบรรยากาศวัดแรกๆนั้นก็คิดในใจอยู่นานพอสมควรครับ คิดวนไปวนมาอยู่อย่างเดียวว่า จะทำได้หรือเปล่า

วัดอุดมวารีเป็นวัดที่อยู่ในอำเภอพานจังหวัดเชียงราย ถ้าคุณนั่งเครื่องไปลงที่สนามบินแม่ฟ้าหลวงจะต้องเดินทางต่อด้วยรถไปประมาณ 40 กิโลเมตรจนจะถึงตัววัด ใครที่ชอบความสงบ ชอบการอยู่กับตัวเอง ชอบที่จะปลีกวิเวกหลีกหนีผู้คนหรือสิ่งเร้ามากมาย ผมว่าน่าจะชอบที่นี่มากๆ เพราะวันทั้งวันคุณจะไม่ได้เจอใครเลย ไม่ได้ยินเสียงอะไรนอกจากเสียงของต้นไม้สีกัน เสียงนกร้อง และเสียงสวดมนต์ทำวัดเช้าเย็น ผมไม่ได้พูดเกินเลยครับ ถ้าคุณมีโอกาสมาวัดนี้สักครั้ง คุณจะรู้ได้เองหลังจากที่คุณลงรถ คุณอยู่ท่ามกลางพื้นที่มากมายแท้ๆ แต่เวลาคุยกันคุณกลับรู้สึกว่าต้องกระซิบคุยกัน เพราะมันเงียบจนไม่ได้ยินเสียงอะไรนอกจากคำที่คุณพูดออกมา

บวชวัดอุดมวารี 2

บวชวัดอุดมวารี 3

ผมขึ้นไปนุ่งขาวห่มขาวเป็นนาคอยู่ที่วัดได้ 3 วันก่อนที่จะได้บวช ซึ่งตัวเองก็เป็นเด็กกรุงเทพฯ ตั้งแต่เกิด ความรู้สึกมากมายถาโถมเข้าใส่ช่วงอาทิตย์สองอาทิตย์แรก “เราจะทำได้หรือเปล่า” “เราต้องเจออะไรบ้าง” “เราจะอยู่ได้จริงๆ หรอ” มันมีความรู้สึกมากมายจริงๆ ครับ โดยไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องนั่งคิดแล้วคิดอีกจนถึงวันที่ลงเครื่อง หรือเปิดประตูแท็กซี่ก้าวเท้าลงมาในบริเวณวัด

มาวันแรกก็โดนพระอาจารย์จับโกนผม โกนคิ้วเลย เนื่องจากผมเดินทางด้วยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ มาคนเดียวถึงวัด เลยไม่มีทางเลือกอะไรอื่น รู้แค่ว่าต้องใช้ชีวิตอยู่ที่วัด อยู่ที่เชียงราย อยู่ที่ที่ผมเองไม่รู้จัก อยู่ที่ที่ผมรู้ว่าผมช่วยอะไรตัวเองไม่ได้เลยสักอย่าง ผมไม่รู้จักสถานที่ ไม่รู้จักภาษาท้องถิ่น ไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง รู้แค่ว่าต้องเป็นนาคอยู่ที่วัด 3 วัน

โดยทุกอย่างจะทำเหมือนภิกษุเลยครับ ตั้งแต่ตื่นเช้ามาทำวัด ถูศาลา เดินบิณฑบาตตามพระ กวาดลานวัด ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดต้องปรับตัว ผมยังจำได้ดีว่าวันแรกผมตื่นเต้นมาก ตื่นมาตี 3 ครึ่งเดินผ่านป่าที่มืดสนิทจนไม่เห็นอะไรเลยสักอย่าง ไม่เห็นมือตัวเอง ถ้าไม่มีไฟฉายผมรับรองได้ว่าผมเดินไปไหนไม่ได้ เดินกลับก็ไม่ได้เดินต่อไปก็ไม่ได้ ทุกก้าวที่เดินเหยียบมันได้ยินแต่เสียงใบไม้แห้ง จะบอกว่าน่ากลัวที่สุดเท่าที่เคยเจอมาในชีวิตก็ได้

ตั้งแต่ผมโตมา ผมไม่เคยเห็นที่ไหนที่มืดสนิทเท่านี้มาก่อน

วัดอุดมวารี

ญาติที่ไปงานบวช

แต่มันก็เหมือนการฝึกตัวเองแหละครับ ภายใต้สภาวะอากาศที่หนาวเหลือเพียงเลขตัวเดียวในเวลานั้น ผมตื่นมาตีสามกว่าๆ เกือบตีสี่เดินผ่านใบไม้แห้งๆ กลางป่าไม้ใหญ่เพื่อไปนั่งทำวัตรเช้ากับพระอีก 2 รูป หลังจากทำวัตรเสร็จแล้วก็จะต้องถูศาลา จุดพีคเลยคือต้องนำผ้าไปชุบน้ำมาเช็ดพื้น ช่วงระหว่างที่มือต้องบิดผ้าให้น้ำแห้งหมาดๆ นั่นแหละ รู้ได้เลยว่ามันหนาวจนมือไม่รู้สึกอะไรตอนบิดผ้าเลยสักนิด แล้วก็เป็นอย่างนี้ทุกวันตอนที่ผมอยู่ที่วัดป่าแห่งนี้

หลังจากนั้นก็ต้องออกไปเดินบินฑบาตรทั้งชุดนาคที่บางๆ ไม่มีคลุมอะไรทั้งนั้น อากาศก็หนาว อีกทั้งพื้นที่เดินก็เป็นทางลูกรัง มีเศษกรวดหินเล็กๆ อยู่เต็มไปหมด เรียกได้ว่าทุกก้าวที่เดินนั้นมีแต่ความเจ็บปวดก็ว่าได้ ตลอดเส้นทาง 300 เมตรผมจำได้ขึ้นใจจนถึงวันนี้ จะว่าก็ว่าเถอะ มันทำให้ผมรู้สึกอะไรมากขึ้น เรียนรู้อะไรได้หลายอย่างจากการเดินบินฑบาต ทั้งบรรยากาศตลอดเส้นทาง ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ไปจนถึงความรู้สึกนึกคิดการเปลี่ยนแปลงภายในของตัวเอง

บางทีการที่เรารู้สึกเจ็บปวด เจ็บปวดทุกครั้งที่ก้าวเดิน แสดงว่าเรานั้นจดจ่อกับมันมากเกินไป รู้สึกไปก่อนหน้าที่เท้าจะสัมผัสถึงพื้นผิว แล้วทำไมเราไม่แหงนมองภาพบรรยากาศรอบข้างที่มันสวยงามจนหาที่ไหนไม่ได้ในกรุงเทพฯ หรือที่ที่เราเคยอยู่บ้างล่ะ

มันเหมือนจะเป็นเรื่องทรมานนะครับ ว่าทุกเช้าที่เราต้องออกบินฑบาตรบนเส้นทางเจ็บปวดเส้นเดิม แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย ผมตั้งหน้าตั้งตารอจนถึงช่วงเวลานี้ ช่วงเวลาที่ได้เจอกับป้าแก่ๆ ที่เดินแบกของมาใส่บาตรมากมาย ช่วงเวลาที่ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ ความรู้สึกที่ชาวบ้านอยากตั้งหน้าตั้งตารอไปใส่บาตรอย่างจริงจัง โดยที่พระไม่เคยได้ให้พรอะไรเลย หรือช่วงเวลาที่ต้องเดินย่ำถนนลูกรังแต่ได้เห็นบรรยากาศโดยรอบที่สวยงดงามแบบหาที่ไหนไม่ได้

ทางถนนลูกรัง

ผมรู้สึกอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูกจนถึงวันที่ได้บวชเป็นภิกษุจริงๆ

วัดป่ากับวัดบ้านต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องของพิธี ประเพณี การรับประทานอาหาร ฯลฯ ทุกอย่างดูเป็นระเบียบ มีสเน่ห์อย่างบอกไม่ถูก ทุกอย่างดูเรียบง่าย ไม่มีการเรียนการสอนพระธรรมอะไรทั้งนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการอยู่กับจิต อยู่กับตัวเอง คุณลองนึกภาพช่วงเวลาทั้งวันที่เราไม่ได้พูดไม่ได้จากับใคร รวมถึงไม่ได้เห็นฆราวาสเลยด้วย

กวาดลานวัด

ฉันอาหารเช้า

มันเหมือนช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง

ได้นึกคิดว่าตัวเองต้องการอะไร โหยหาอะไร เรารู้สึกยังไงกันแน่กับช่วงเวลาเหล่านี้ ตอนก่อนมาบวช งานผมเยอะมาก ผมอยากบวชเพื่อละ ปล่อยวางงานที่มีอยู่เสียบ้างแล้วมาใช้ชีวิตอย่างสงบๆ อยู่ไกลจากเทคโนโลยีที่ผมคุ้นเคย ช่วงที่ได้อยู่กับตัวเองนี้แหละที่ได้รู้ว่าแท้จริงแล้วเรายังต้องการมันอยู่ไหม เรายังโหยหามันอยู่จริงหรือเปล่า เราอยากพักผ่อนหรืออยากทำงาน เราอยากรู้ว่าที่ทำอยู่ในทุกๆวัน มันถูกต้องและใช่จริงอย่างที่คิดไหม

สาเหตุที่ผมไม่เคยได้บอกใครเลยว่าจะมาบวชที่ไหนและเมื่อไหร่

คือไม่อยากให้ใครต่อใครต้องมาลำบาก ไม่อยากมีพิธีรีตรองอะไรทั้งนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้มีแค่พ่อกับแม่แค่นั้นก็พอแล้ว แต่ในวันที่ผมกำลังจะบวชนั้นเอง ผมก็รู้ว่าตัวเองคิดผิด เมื่อคุณตาอายุ 92 มาทักผมคำเดียวเลยว่า “นี่ไง มาแล้วนะ” มันเหมือนกับว่าการที่เราหนีออกมาบวชไกลๆ เพื่อไม่อยากให้ใครต่อใครตามมาได้นั้นมันผิด เราคิดถึงแต่ตัวเอง ทั้งๆ ที่ทำให้คนอื่นที่อยากจะมารู้สึกลำบาก

เรายังมีทิฐิจนถึงวันสุดท้ายที่เราจะบวชอยู่ดี

ผมยังจำความรู้สึกนั้นได้ดีครับ มันเหมือนกับทิฐิทุกอย่างมันพังทลายลงมา ผมรู้อย่างเดียวในสมองว่าการที่เรามาไกลขนาดนี้ มันทำให้คนที่เป็นห่วงลำบากมากมายขนาดไหนโดยเฉพาะพ่อกับแม่ ผมเลยร้องขอเจ้าอาวาสเพื่อกลับมาจำวัดที่วัดชลประทานใกล้บ้าน เป็นอันว่าผมอยู่ที่วัดป่า อุดมวารี ได้ 6 วัน แล้วเดินทางด้วยรถตู้ไปจำที่ห้องพระบ้านตาอีก 1 คืน จนมาถึงวัดชลประทาน

วัดชลประทาน

ผมรู้สึกใจหายเล็กๆ เมื่อท่านเจ้าอาวาสได้บอกให้เปลี่ยนจีวรเป็นสีเหลืองปรกติอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน (วัดที่ผมบวชเป็นวัดป่า จีวรจะออกสีเข้มเป็นสีแก่นขนุน) จริงๆ แล้วก็ไม่ได้อะไรหรอกครับ เพราะถ้าจะใส่จีวรสีไหนผมคิดว่าไม่สำคัญถ้าเรายังประพฤติอยู่ในศีลในธรรมให้คนทั่วไปเคารพ แต่ที่ใจหายนั่นเป็นเพราะว่าจีวรนี้พ่อกับแม่เป็นผู้ยื่นให้เพื่อทำพิธีบวชเป็นพระภิกษุ

การใช้ชีวิตต่างกับวัดป่าอย่างมาก ผมต้องปรับตัวให้เข้ากับพระใหม่อีก 80 รูปที่วัดชลประทาน โดยที่เขาก็รู้จักกันมาก่อนแล้วเป็นอาทิตย์ ผมเข้าไปก็เหมือนแกะดำที่แตกต่างจากเพื่อน ต้องทำความคุ้นเคยรู้จัก ปรับตัวเข้ากับสถานที่ กับผู้คน กับขนบธรรมเนียม แต่ก็ได้พระอาจารย์ที่ดูแลเป็นอย่างดี อีกทั้งเพื่อนพระนวกะที่เข้าใจ และยอมรับ

พระวัดป่าฉันเช้ามื้อเดียว ในขณะที่พระวัดบ้านฉันเช้า และฉันเพล การปรับตัวเรื่องบริโภคอาหารถือเป็นเรื่องนึงที่ต้องให้ความใส่ใจครับ เพราะเราต้องควบคุมบริหารร่างกายให้ดี ทั้งในเรื่องของการนอน การตื่น ทุกอย่างล้วนสัมพันธ์ถึงกันหมด จนเรารู้สึกว่าการเป็นพระที่ดี และจริงจังเนี่ยมันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่วัดชลประทานผมได้เรียนรู้ในเรื่องของพระธรรมจากคลาสที่มีสอนในทุกวัน ได้เรียนรู้ถึงบรรยากาศการทำตัวให้เป็นพระ ให้น่าเคารพนับถือ การปฏิบัติในวันพระเล็ก พระใหญ่ ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้

พระที่วัดชลประทาน

เทศน์วัดชล

มันฟังดูเหมือนจะลำบากนะครับ แต่ความเป็นจริงแล้วเราได้อะไรจากตรงนั้นมาก

เราได้ฝึกตัวเอง ให้สำรวม ให้เรียบร้อย ให้วางตัวสมกับฐานะที่เราเป็น ได้รู้ถึงการใช้ชีวิตในช่วงที่เราเป็นภิกษุ ช่วงที่บุคคลทั่วไปมองพระว่าเป็นยังไง มันเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าที่หาที่ไหนไม่ได้ ฟังจากใครก็ไม่รู้สึกเท่ากับการที่เราได้มาเจอสักครั้งในชีวิตด้วตัวเอง

พิธีลาสิกขา

การบวชครั้งนี้ผมได้ใช้จีวรของวัดป่า 7 วัน และวัดบ้าน 7 วัน ผมรู้สึกว่าทุกอย่างมันสอนผมมากมายเกินกว่า 14 ปีที่เคยได้ใช้ชีวิตมาด้วยซ้ำ

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ