เพียงแค่คุณเปิดใจ

ถ้าผู้ใช้เปิดแล้วไม่ยอมรับ.. เขาก็จะไม่เปิดอีกเลย

ดี๋ยวนี้คำโฆษณามากมายต่างหันมาเล่นคำนี้มากเหลือเกินครับ แล้วผมก็ได้ยินมันแทบทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ได้ยินทางโทรทัศน์ก็อาจจะได้ยินผ่านสปอตโฆษณาของวิทยุแทน “แค่คุณเปิดใจ” คำนี้ผมว่ามันถูกใช้กันจนโหล แล้วก็เริ่มไม่เห็นคุณค่ากันแล้วนะ อีกหน่อยถ้าเราเดินเข้าไปบอกใครโต้งๆ เลยว่า “ที่เป็นแบบเนี้ย เพราะพี่ไม่เปิดใจไง” หรือ “ของแบบนี้ต้องเปิดใจ แล้วจะรู้” ฯลฯ

ความเป็นจริงผมไม่ได้อยากจะเขียนอะไรเกี่ยวกับพวกนี้ในบทความนี้หรอกครับ ที่ผมตั้งใจจริงๆ เลยคือการเขียนเรื่อง Spotify กับ 8tracks ซึ่งเป็นบริการฟังเพลงที่ ต่าง ออกไปจากเว็บไซต์ฟังเพลงทั่วไปอย่างที่ใครหลายคนใช้ฟังกันบ่อยๆ ที่เห็นได้ก็เป็น Youtube ซึ่งเผอิญว่ามันเองก็คลับคล้ายคลับคลาเกี่ยวข้องกับเรื่องไอ้การเปิดใจนี่พอดิบพอดี เลยขอเก็บมาเขียนรวมไปเลยแล้วกัน

วันนึงเราบอกให้ใครลองเปิดใจ.

dependency

เปิดใจเพื่อยอมรับ หรือลองอะไรสักอย่างที่เขาคนนั้นยังไม่เคยได้ลองประสบการณ์ดังกล่าวที่เราผ่านเข้าไปแล้ว เรารู้สึกดีอยากจะบอกต่อแชร์ให้รับรู้ โอเคถ้าเขาเปิดใจ.. เขาชอบ ผลลัพธ์ก็เป็นไปในทางที่ดีโดยที่ไม่รู้ว่ามันจะยาวนานแค่ไหน สิ่งใหม่นั้นจะกระแทกไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเขาได้หรือเปล่า แล้วถ้าไม่ล่ะ ถ้าเขาไม่โอเคกับการเปิดใจในครั้งนี้ ผมบอกได้เลยว่าเขาอาจจะไม่กลับมาเปิดใจให้กับเรื่องดังกล่าวนั้นอีกเลย หรืออาจจะนานจนลืมประสบการณ์ที่ไม่โอเคครั้งนั้นไป

เรื่องของ เพลง ก็เหมือนกันครับ ปรกติเพื่อนจะชอบบ่นเวลาขึ้นมานั่งบนรถผมแล้วต้องไปไหนมาไหนด้วย หรือแม้แต่คนใกล้ตัวอย่างญาติพี่น้องครอบครัวอะไรก็ตามแต่

“นี่มึงฟังเพลงอะไรของมึงวะ”

เมื่อก่อนก็ได้แต่บอกไปเหมือนกันว่า “เห้ย เพลงนี้มันเพราะนะเว้ย มึงลองเปิดใจฟังดิ” 

แน่นอนว่ามันยากครับ ยิ่งเป็นเรื่องของเพลงด้วย ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการที่เราจะดูหรือมองใครสักคนว่าเขาเป็นคนยังไง ชอบอะไรแบบไหน ให้ดูตอนที่เขาฟังเพลง ดูเพลงที่เขาฟัง แล้วก็แน่นอนเหมือนกันว่าเกือบทุกคนที่ผมบอกให้ลองเปิดใจฟัง จะไม่กลับมาฟังเพลงแนวที่ผมฟังอีกเลย… เหี้ยจริงๆ 55

คนเราอาจจะผลัดเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองชอบ ตัวเองสนใจเพื่อตามกระแสสังคมได้อยู่พักหนึ่งครับ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หน้าผม เทคโนโลยี เก่าไปใหม่มาอนิจจังเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป วนไปกลับมาใหม่ตามกาลเวลา บางทีผมก็เริ่มคิดสงสัยอยู่เหมือนกัน

เรายังชอบใครสักคนในแบบที่เขาเป็นจริงๆ
แล้วทำไมเราต้องไปปรับเปลี่ยนเติมแต่งตัวเองให้ต่างไปจากที่ตัวเองเป็นกันวะ

ว่าแล้วก็กลับมาที่เรื่องของที่อยากจะเขียนจริงๆ อย่าง Spotify สักหน่อย ผมเองเป็นผู้ใช้ใหม่ที่เพิ่งเริ่มใช้งาน Spotify ได้สักประมาณ 2 เดือน ขอเกริ่นให้ฟังก่อนว่าเจ้า Spotify เนี่ยเป็นบริการ stream เพลง หรือเรียกกันแบบภาษาบ้านๆ ก็ให้บริการฟังเพลงออนไลน์ได้ตลอดเวลา อยากจะฟังเมื่อไหร่ก็เปิดเว็บ หรือเปิดโปรแกรมเข้าไปเลือกเพลงฟังได้เลย แต่เจ้าบริการ Spotify เองก็ยังไม่เปิดให้ผู้ใช้ในประเทศไทยสามารถใช้งานได้ (แน่นอนว่ามันไม่มีเพลงไทย)

แล้วผมใช้ Spotify ได้ยังไง?

เคยเขียนไว้ในบทความเก่ามากอันนึง(Moving to DigitalOcean) ว่าผมได้ย้ายโฮสต์เว็บไซต์ Jir4yu.me ที่เป็นบล็อกของผมเองนี้มาใช้บริการของ DigitalOcean ซึ่งรายละเอียดอื่นๆ ก็ลองเข้าไปอ่านตามลิงค์ที่แปะไว้นั่นแล้วกันครับ ซึ่งไอ้ที่ใช้อยู่เนี่ยก็เป็น datacenter อยู่ที่สิงค์โปร แล้วไปลองค้นไปค้นมาดูก็พบว่า Spotify เองรองรับผู้ใช้ที่อยู่ในประเทศสิงค์โปรด้วย ก็เลยทำ VPN จากที่เช่าอยู่เดือนละ 5 เหรียญ ให้คุ้มขึ้นกว่าเดิมหน่อยคือเปิด VPN ส่วนตัวใช้เองด้วยเลย

พับเรื่อง technical ไว้เท่านั้นก็พอครับ เดี๋ยวจะไม่เป็นบล็อกส่วนตัวที่เขียนเรื่องทั่วไปเสียก่อน

ผมรู้จัก Spotify จากคนรู้จักห่างๆ คนนึงที่เคยได้ไป event ในงานเดียวกัน ตอนนั้นผมก็เหมือนคนทั่วไปเลย ฟังเพลงผ่านวิทยุบ้าง รู้จักเพลงใหม่ผ่านการแนะนำของคนอื่นบ้าง แต่ก็รู้สึกว่าแนวเพลงนั้นแกว่งมาก อย่างจะฟังเพลงใน Youtube พอเพลงจบก็ลองฟังเพลงอื่นๆที่มันขึ้นมาด้านข้างดู ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แนวที่เราชอบเท่าไหร่(อาจจะเป็นเพราะผมไม่ได้ฟังเพลงตลาด) อีกทั้งบางอย่างมันก็ไม่ค่อยตอบโจทย์เรื่องการฟังเพลง เลยย้ายจาก Youtube ไปฟังบน Soundcloud ที่เป็นบริการฟังเพลงโดยเฉพาะ(ต่างจาก Youtube ที่เป็นวิดีโอ เน้นการดูคลิป)

แต่ก็ยังรู้สึกว่าเพลงที่มีบน Soundcloud นั้นมันไม่ค่อยใช่เท่าไหร่อีกเหมือนกัน ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะบน Soundcloud ส่วนมากจะมีแต่เพลง Remix ที่แตกต่างออกไปจากต้นฉบับเดิม ซึ่งบางทีก็ฟังยากเสียเหลือเกิน แล้วบางทีก็อยากจะฟังเพลงแบบที่ศิลปินทำมาเปลือยๆ บ้าง ไม่ได้อยากฟัง Remix อะไรทำนองนี้ จนมาเจอคนแนะนำ Spotify เนี่ยแหละครับ ลองเปิดใจหันมาใช้ได้สองสามวัน แล้วก็ติดงอมแงมต้องเปิดทุกวันมาจนถึงตอนนี้ ที่ผมชอบมากก็จะเป็นเรื่องของ playlist ที่จัดหมวดแบ่งได้ชัดเจน แล้วเพลงที่มีอยู่บนบริการนั้นก็ไม่ใช่เพลง Remix ที่ใครจะเอามาทำแล้วก็อัพโหลดขึ้นมาได้

spotify
เพลงตามหมวดบน Spotify

เป็นเพลงที่มาจากอัลบัมของศิลปินเองเลย ซึ่งปรกติแล้วถ้าใครที่ฟังเพลง indie หน่อยแบบไม่ได้ฟังอย่างที่วิทยุทั่วไปเขาเปิดกันเนี่ยจะรู้เลยว่าหาเพลงแนวที่ตัวเองชอบ หรือศิลปินที่ทำเพลงคล้ายกับศิลปินที่เราชอบฟังเนี่ยยากมาก แต่ใน Spotify นั้นต่างไป ตั้งแต่ใช้บริการของ Spotify มาร่วมสองเดือนรู้สึกว่าตัวเองได้รู้จักศิลปินกับเพลงใหม่ๆ ในแนวแบบที่ตัวเองชอบ เยอะขึ้นมาก ไม่แปลกใจที่เดือนหลังๆ มานี้จะเสียเงินค่าซื้อเพลงใน iTunes ไปหลายร้อย ตอนนี้เลยไม่ค่อยแปลกใจที่เห็นใครหลายคนชอบพิมพ์ทำนองว่า ชอบ/รัก Spotify เพราะคิดว่าตัวเองก็น่าจะใกล้เคียงแบบนั้นเหมือนกัน ไม่รู้สิครับ.. คนที่ฟังเพลงทั่วไป แบบตลาดตามวิทยุเปิดอาจจะไม่ได้ชอบอะไรนักหนาแบบที่ผมชอบก็ได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องของประสบการณ์ใช้งานล้วนๆ ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีคนที่พอใจ แล้วก็ไม่พอใจ เราอาจจะโฟกัสผู้ใช้ทุกกลุ่มให้รักในบริการหรือสินค้าของเราไม่ได้ แต่เราก็เลือกกลุ่มลูกค้าหลักที่ใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเราได้เหมือนกัน

8tracks
หาเพลงฟังตาม tags

จริงๆ มีอีกบริการนึงที่พักหลังชอบใช้เหมือนกันคือ 8tracks.com อันนี้ให้เราใส่ tag หรือประเภทเพลงที่เราต้องการจะฟังได้เลยอย่างเช่น relax, indie, high, weed อะไรทำนองนี้ แล้วมันก็จะขึ้น playlist มาให้เราเลือกฟังแนวเพลงประเภทนั้นได้เลย ติดอยู่อย่างที่ตัวของ 8tracks เองย้อนกลับไปฟังเพลงก่อนหน้าไม่ได้ แล้วก็ข้ามเพลงได้แค่ 3 ครั้งในช่วงเวลานึง เพลงส่วนใหญ่ก็เป็นเพลงที่ remix คล้ายกับ Soundcloud เลยเก็บไว้ฟังสนุกๆ เผื่ออยากรู้จักเพลงอื่นเพิ่มเติม บางคนอาจจะสงสัยว่าเรื่องของเพลง เป็นเรื่องใหญ่ หรือต้องขนาดหยิบมาเขียนเป็นบทความเลยหรอ ผมก็ไม่รู้หรอกครับ

แต่ผมรู้แค่ว่าสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นได้ในช่วงที่ตัวเองเจออะไรแย่ๆ.. เพลงคือหนึ่งในนั้น

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ