อุดมการณ์ ปณิธาน ตรรก

ต่างกันยังไง แล้วอะไร .. ที่สำคัญ

เมื่อสองสามวันก่อนได้มีโอกาสไปงานเลี้ยงรุ่นที่จบโรงเรียนมัธยมมาด้วยกัน ปีนึงจะเจอกันอย่างน้อยครั้งสองครั้ง จำได้ว่าสมัยผมใกล้จะจบ ม.ปลาย เพื่อนๆทุกคนที่เห็นกันต่างก็มีความคิดคล้ายกัน อาจจะเป็นเพราะด้วยความที่เรายังเป็นเด็ก อาจจะเป็นเพราะด้วยความที่เราถูกปลูกฝังเลี้ยงดูภายใต้สิ่งแวดล้อมคล้ายกัน จึงทำให้ตอนนั้นเองเราค่อนข้างเห็นและคล้อยตามไปในทิศทางเดียวกัน

วันเวลาผ่านไปถึงแม้ว่าเลี้ยงรุ่นเราจะมากันได้น้อยลงในแต่ละปี แต่ผมก็มีคำถามมากมายที่อยากจะรู้ความคิดความเห็นทัศนคติของเพื่อนๆที่เคยได้อยู่ด้วยกันมาพักใหญ่ๆ โดยความเห็นส่วนตัวยิ่งตอนเป็นนักศึกษาใกล้จบก่อนได้ทำงานจริงนี่ยิ่งมีความคิดนอกกรอบ ถ้าไปทำงานจริงแล้วอาจจะถูกบีบให้อยู่ในกรอบก็เป็นได้ อีกทั้งตอนนี้เราก็ต่างไปอยู่ที่ต่างกัน ต่างสิ่งแวดล้อม ต่างความคิด คำตอบจากการสนทนากันก็ยิ่งดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ อุดมการณ์ ปณิธาน ตรรก ของแต่ละคน

ผมก็ไม่รู้ความหมายของคำสามคำนี้อย่างชัดเจนหรอกครับ รู้แค่ว่ามันควรใช้เวลาไหน ต่างกันยังไง และไม่ควรซีเรียสกับคำสามคำนี้มากนักด้วย (เห็นทุกบอร์ดเถียงเรื่องความหมาย แอบจิกกัดกันอีกตะหาก) เพราะฉะนั้น ผมจะพูดถึงในความหมายที่ผมเข้าใจ คือ อุดมการณ์ คือเป้าหมายสูงสุดหรือเป้าหมายหลักของการดำเนินชีวิตและวิธีคิด ปณิธานคือแนวทาง ข้อกำหนด ที่เราจะใช้ชีวิตหรือความคิดตามที่ให้ไว้ และ ตรรก คือความเป็นจริงโดยปราศจากสิ่งเร้าทางความคิดหรือสิ่งบิดเบือน

แค่นี้ก็เห็นภาพแล้วมั้งครับว่าต้องควรใช้คำไหนเวลาใด และสิ่งที่ผมกำลังจะเขียนถึงนี้มันเกี่ยวข้องกับบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างงานเลี้ยงครับ

stfx10-math-eng

เคยสงสัยกันมั้ยครับ ตอนเรียนมหาลัยเวลาเจออาจารย์เก่งๆหน่อย อย่าง ดร. บ้าง ผศ. บ้าง อาจารย์หลายท่านเหล่านี้มักจะสอนหรือพูดอะไรในเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้งหรือมีมุมมองที่แตกต่างจากคนทั่วไปเหลือเกิน ผมสังเกตุเห็นว่าอาจารย์เก่งๆหลายต่อหลายท่านมักจะมีมุมมองที่ต่างออกไป หรือว่าเขาเห็นอะไรในสิ่งที่เราไม่เห็น หลังจากพบกับเพื่อนๆงานเลี้ยงรุ่นแล้ว ผมก็เริ่มคลายความสงสัยลงไปบ้าง…

สมมุติถ้าให้มอง ต้นไม้ต้นเดียวกัน จากนักศึกษา 3 คนเป็นนักศึกษาที่กำลังจะจบจาก 3 คณะ ผมว่าตรรกพื้นฐานที่ทุกคนเห็นมันก็คือต้นไม้นั่นแหละครับ แต่มุมมองหรือวิธีการคิดกับต้นไม้ต้นเดียวกันอาจจะไม่เหมือนกันก็เป็นได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆอีกสักเรื่อง “บั้งไฟพญานาค” พูดขึ้นมาคำนี้ เด็กนักศึกษาบางคณะก็เอามาคุยเถียงกันได้เป็นวันแล้วด้วยซ้ำ แล้วจะไปเหลืออะไรกับนักศึกษา 3 คนที่มาจากต่างคณะต่างสาขาวิชากันด้วย

เด็กเรียนรัฐศาสตร์เริ่มมีอุดมการณ์ เด็กเรียนนิติเริ่มตั้งปณิธาน เด็กวิทยาศาสตร์มองทุกอย่างเป็นตรรก

ที่พูดถึงไม่ได้มีความหมายเป็นอะไรมากหรอก ผมแค่ชอบที่จะแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆจากสิ่งที่เรามองเห็นอยู่ปัจจุบัน มันทำให้เราได้ความคิดอะไรดีๆเพิ่มมากขึ้นในมุมมองที่เราไม่เคยคิดถึง ทำให้เปิดใจยอมรับสิ่งต่างๆที่กำลังเข้ามา อีกอย่างผมก็ว่าผมก็ยังคงเป็นเด็กอยู่ หรือไม่ก็เรียกว่าเป็นคนที่ยังมีประสบการณ์น้อยก็ได้ อาจจะเข้าใจอะไรผิดและคงเปลี่ยนแปลงความคิดตัวเองไปตามกาลเวลา

ที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคงเป็นการฟัง จริงอยู่ถ้าเราฟังกันมากขึ้น เราจะเข้าใจกันมากขึ้น แต่ถ้าเราคิดว่าความคิดตัวเองถูกตั้งแต่แรก ยังไงเราก็ฟังความเห็นคนอื่น ..น้อยลงอยู่ดีครับ

Jir4yu.

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ